สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 4% ในวันอังคาร (10 ก.ย.) หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกในปีนี้และปีหน้า
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 2.96 ดอลลาร์ หรือ 4.31 ปิดที่ 65.75 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 2.65 ดอลลาร์ หรือ 3.69% ปิดที่ 69.19 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2564
โอเปกคาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกในปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 2.03 ล้านบาร์เรล/วัน ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.11 ล้านบาร์เรล/วัน และคาดว่าอุปสงค์น้ำมันในปี 2568 จะเพิ่มขึ้น 1.74 ล้านบาร์เรล/วัน ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.78 ล้านบาร์เรล/วัน
ทั้งนี้ โอเปกได้ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 เดือน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันจากจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก
การปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันของโอเปกได้บดบังปัจจัยบวกจากรายงานของสำนักงานนิรภัยและการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (BSEE) ซึ่งระบุว่า พายุโซนร้อนฟรานซีน (Francine) ได้ทวีความรุนแรงในขณะเคลื่อนตัวผ่านอ่าวเม็กซิโก ส่งผลให้บริษัทพลังงานหลายแห่งต้องระงับการผลิตน้ำมันดิบนอกชายฝั่งประมาณ 1 ใน 4
ทั้งนี้ การผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ มีสัดส่วนประมาณ 15% ของการผลิตน้ำมันทั้งหมดภายในประเทศ และผลิตก๊าซธรรมชาติในสัดส่วน 2% ของการผลิตก๊าซธรรมชาติทั้งหมดในประเทศ
ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า พายุโซนร้อนฟรานซีนมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงกลายเป็นเฮอร์ริเคน ขณะที่รายงานล่าสุดระบุว่า บริษัทเอ็กซอน โมบิล (Exxon Mobil) , เชลล์ (Shell) และเชฟรอน (Chevron) ได้อพยพพนักงานออกจากแท่นขุดเจาะนอกชายฝั่งและระงับการดำเนินงานด้านน้ำมันและก๊าซบางส่วนในอ่าวเม็กซิโก