ภาวะตลาดน้ำมันน้ำมัน WTI ปิดบวก $1.66 หลังเฮอร์ริเคนกระทบการผลิต

ข่าวต่างประเทศ Friday September 13, 2024 06:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (12 ก.ย.) โดยตลาดได้แรงหนุนจากข่าวพายุเฮอร์ริเคนฟรานซีน (Francine) ที่พัดขึ้นฝั่งรัฐลุยเซียนาและส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 1.66 ดอลลาร์ หรือ 2.47% ปิดที่ 68.97 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 1.36 ดอลลาร์ หรือ 1.93% ปิดที่ 71.97 ดอลลาร์/บาร์เรล

พายุเฮอร์ริเคนฟรานซีนได้พัดขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของรัฐลุยเซียนาเมื่อช่วงเย็นวันพุธ (11 ก.ย.) ทำให้เมืองนิวออร์ลีนส์และพื้นที่ในเขตกัลฟ์โคสต์เผชิญลมกระโชกแรง และคลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm Surge) ส่งผลให้เจ้าหน้าที่สั่งอพยพประชาชนหลายพันคน

สำนักงานนิรภัยและการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (BSEE) ระบุว่า การผลิตน้ำมันกว่า 730,000 บาร์เรล/วัน หรือเกือบ 42% ในอ่าวเม็กซิโกได้ถูกระงับแล้วในวันพฤหัสบดี เนื่องจากอิทธิพลของพายุเฮอร์ริเคนฟรานซีน

ราคาน้ำมัน WTI และน้ำมันเบรนท์พุ่งขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 2 หลังจากมีรายงานว่าบริษัทพลังงานหลายแห่งได้อพยพพนักงานออกจากแท่นขุดเจาะนอกชายฝั่งเนื่องจากพายุเฮอร์ริเคนฟรานซีน ขณะที่นักวิเคราะห์จาก UBS คาดการณ์ว่าอิทธิพลของพายุเฮอร์ริเคนลูกนี้จะส่งผลให้การผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกลดลงประมาณ 50,000 บาร์เรล/วันในเดือนนี้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายมองว่าผลกระทบจากพายุฟรานซีนอาจเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น เนื่องจากพายุได้อ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วหลังจากพัดขึ้นฝั่งในรัฐลุยเซียนาเมื่อช่วงเย็นวันพุธ โดยอเล็กซ์ โฮดส์ นักวิเคราะห์จาก StoneX คาดการณ์ว่า การอ่อนกำลังลงของพายุลูกนี้อาจจะทำให้ตลาดกลับไปให้ความสนใจเกี่ยวกับภาวะอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกที่ชะลอตัวลง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ท่าเรือส่งออกน้ำมันและเชื้อเพลิงตั้งแต่พื้นที่ตอนใต้ไปจนถึงตอนกลางของรัฐเท็กซัสได้กลับเปิดทำการอีกครั้งในวันพฤหัสบดี และโรงกลั่นหลายแห่งก็กำลังเพิ่มการผลิตเช่นกัน

สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) ได้ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันในปี 2567 ลงกว่า 7% สู่ระดับ 900,000 บาร์เรล/วัน โดยระบุถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอในจีนและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ซบเซาในในภูมิภาคอื่น ๆ

ทั้งนี้ ความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกที่อ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลกนั้น เป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันเบรนท์ปิดตลาดใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีเมื่อวันอังคาร หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันรายปีติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ