สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 3% ในวันจันทร์ (11 พ.ย.) และเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 2 วันทำการ เนื่องจากนักลงทุนยังคงผิดหวังกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนซึ่งเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันมากเป็นอันดับสองของโลก รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2568
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 2.34 ดอลลาร์ หรือ 3.32% ปิดที่ 68.04 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 2.04 ดอลลาร์ หรือ 2.76% ปิดที่ 71.83 ดอลลาร์/บาร์เรล
รัฐบาลจีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเวลา 5 ปี ในวงเงิน 10 ล้านล้านหยวน (1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8 พ.ย.) เพื่อรับมือกับปัญหาหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น แต่ไม่ได้ระบุถึงมาตรการที่จะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงอุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ทรุดตัวลงอย่างมาก ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่ามาตรการดังกล่าวยังไม่แข็งแกร่งพอที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ
นักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินฝืดของจีน หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอลงหลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนก.ย. ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวลง 2.9% ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเดือนที่ 25
แบงก์ ออฟ อเมริกา ซิเคียวริตีส์ (Bank of America Securities) คาดการณ์ว่า อุปทาน้ำมันจากประเทศนอกกลุ่มโอเปกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 2568 และเพิ่มขึ้น 900,000 บาร์เรล/วัน ในปี 2569
นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังสร้างแรงกดดันต่อตลาดน้ำมัน เนื่องจากดอลลาร์ที่แข็งค่าจะทำให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.52% แตะที่ 105.544