สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลดลงมากกว่า 1% ในวันศุกร์ (6 ธ.ค.) และลดลงในรอบสัปดาห์นี้ หลังจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำมันจะล้นตลาดในปีหน้าเนื่องจากมีความต้องการที่อ่อนแอ แม้ว่ากลุ่มโอเปกพลัสได้ตัดสินใจเลื่อนการเพิ่มกำลังการผลิตและขยายเวลาปรับลดการผลิตไปจนถึงปลายปี 2569
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 1.10 ดอลลาร์ หรือ 1.61% ปิดที่ 67.20 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 97 เซนต์ หรือ 1.35% ปิดที่ 71.12 ดอลลาร์/บาร์เรล
ในรอบสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ร่วงลงมากกว่า 2.5% ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ลดลง 1.2%
จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกนั้น ได้ส่งผลถ่วงราคาน้ำมันลดลงด้วย
เมื่อวันพฤหัสบดี (5 ธ.ค.) กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร หรือ โอเปกพลัส ได้เลื่อนการเริ่มต้นปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีก 3 เดือนจนถึงเดือนเม.ย.ปีหน้า และขยายเวลาลดการผลิตอย่างเต็มที่ต่อไปอีก 1 ปีจนถึงปลายปี 2569
บ็อบ ยอว์เกอร์ ผู้อำนวยการด้านฟิวเจอร์พลังงานของมิซูโฮ (Mizuho) กล่าวว่า ความต้องการน้ำมันทั่วโลกที่อ่อนแอและความเป็นไปได้ที่โอเปกพลัสจะเพิ่มการผลิตทันทีที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นนั้นได้ส่งผลกระทบต่อการซื้อขาย
โอเปกพลัสซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันประมาณครึ่งหนึ่งของการผลิตน้ำมันทั่วโลกเคยวางแผนที่จะเริ่มยกเลิกการลดกำลังการผลิตตั้งแต่เดือนต.ค. 2567 แต่การชะลอตัวของความต้องการน้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะจากผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดอย่างจีน และการเพิ่มการผลิตจากที่อื่น ๆ ทำให้ต้องเลื่อนแผนนี้ออกไปหลายครั้ง
แบงก์ ออฟ อเมริกา (Bank of America) คาดการณ์ว่า การเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำมันส่วนเกินจะทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยอยู่ที่ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2568 ขณะที่การขยายตัวของความต้องการน้ำมันจะฟื้นตัวขึ้นเป็น 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีหน้า
ด้านเอชเอสบีซี (HSBC) คาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำมันส่วนเกินในตลาดจะลดลงเหลือ 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่วนใหญ่ยังคงปรับตัวอยู่ในช่วงแคบ ๆ ระหว่าง 70-75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนที่ผ่านมา ขณะที่นักลงทุนประเมินสัญญาณความต้องการที่อ่อนแอจากจีน และความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นในตะวันออกกลาง
อีกปัจจัยที่กดดันราคาคือจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 สัปดาห์ โดยเบเกอร์ ฮิวจ์ส (Baker Hughes) บริษัทบริการด้านพลังงานของสหรัฐฯ เปิดเผยในวันศุกร์ว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันเพิ่มขึ้น 5 แท่นเป็น 482 แท่นในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่กลางเดือนต.ค. ขณะที่จำนวนแท่นขุดเจาะก๊าซเพิ่มขึ้น 2 แท่นเป็น 102 แท่น ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย.
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังปรับตัวลง หลังสหรัฐฯ รายงานการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง แต่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย