ภาวะตลาดน้ำมันน้ำมัน WTI ปิดเพิ่ม $1.17 รับความเสี่ยงการเมืองโลก-จีนผ่อนคลายนโยบาย

ข่าวต่างประเทศ Tuesday December 10, 2024 06:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดเพิ่มขึ้นมากกว่า 1% ในวันจันทร์ (9 ธ.ค.) เนื่องจากการเมืองโลกเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้นหลังจากการโค่นอำนาจของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดแห่งซีเรีย และจากการที่จีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุด ได้ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2553 เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 1.17 ดอลลาร์ หรือ 1.74% ปิดที่ 68.37 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 1.02 ดอลลาร์ หรือ 1.43% ปิดที่ 72.14 ดอลลาร์/บาร์เรล

"เหตุการณ์ในซีเรียในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันดิบ และเพิ่มความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีผลต่อราคาน้ำมันในอีกไม่กี่สัปดาห์และหลายเดือนข้างหน้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง" จอร์จ เลออน หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ของบริษัทไรสตัด เอนเนอร์จี (Rystad Energy) กล่าว

กลุ่มกบฏซีเรียเปิดเผยผ่านทางโทรทัศน์ของรัฐเมื่อวันอาทิตย์ (8 ธ.ค.) ว่า พวกเขาได้โค่นล้มอัสซาด โดยยุติการปกครองของตระกูลอัสซาดที่ยาวนานถึง 50 ปี และได้เพิ่มความกังวลเกี่ยวกับความไร้เสถียรภาพมากขึ้นในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยสงคราม

เลออนกล่าวว่า แม้ซีเรียจะไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ แต่ก็มีอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และความสัมพันธ์ที่มีกับรัสเซียและอิหร่าน และเมื่อผสมกับความตึงเครียดในที่อื่นๆ ในภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในซีเรียอาจส่งผลกระทบไปยังพื้นที่ใกล้เคียง

ข้อมูลการติดตามเรือแสดงให้เห็นว่า มีสัญญาณแรกของภาวะชะงักงันในตลาดน้ำมัน เมื่อเรือบรรทุกน้ำมันที่ขนส่งน้ำมันของอิหร่านไปยังซีเรียได้เปลี่ยนเส้นทางกลับในทะเลแดง

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวซินหัวซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลจีนรายงานโดยอ้างถึงการประชุมของผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์หรือกรมการเมือง (โปลิตบูโร) ว่า จีนวางแผนที่จะปรับนโยบายเป็นพิเศษเพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยเน้นเพิ่มความต้องการภายในประเทศและกระตุ้นให้ประชาชนใช้จ่ายเงินมากขึ้น

"เราคาดว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะพุ่งสูงขึ้นหากจีนดำเนินการตามคำมั่นสัญญาในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และมีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ" ฟิล ฟลินน์ นักวิเคราะห์อาวุโสจากไพรซ์ ฟิวเจอร์ส กรุ๊ป (Price Futures Group) กล่าว

การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันโอเปกพลัสตัดสินใจในสัปดาห์ที่แล้วที่จะเลื่อนแผนการเพิ่มการผลิตออกไปจนถึงเดือนเม.ย.ปีหน้า

บรรดานักลงทุนมุ่งความสนใจไปที่การเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในสัปดาห์หน้า โดยการลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดต้นทุนในการกู้ยืม ซึ่งสามารถกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเพิ่มความต้องการน้ำมัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ