สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเกือบ 2% ในวันศุกร์ (13 ธ.ค.) แตะระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ เนื่องจากการคาดการณ์ที่ว่า การคว่ำบาตรเพิ่มเติมกับรัสเซียและอิหร่านอาจทำให้อุปทานตึงตัวขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงในยุโรปและสหรัฐฯ อาจช่วยหนุนความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 1.27 ดอลลาร์ หรือ 1.81% ปิดที่ 71.29 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 1.08 ดอลลาร์ หรือ 1.47% ปิดที่ 74.49 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ปิดตลาดที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. และเพิ่มขึ้น 5% ในสัปดาห์นี้ ส่วนน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 6% ในสัปดาห์นี้ และปิดที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย.
"ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นมาจากการคาดการณ์เกี่ยวกับการคว่ำบาตรที่เข้มงวดขึ้นต่อรัสเซียและอิหร่าน, แนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่ได้รับการสนับสนุนมากขึ้น, สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในตะวันออกกลาง และแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในสัปดาห์หน้า" นักวิเคราะห์จากริทเทอร์บุช แอนด์ แอสโซซิเอตส์ (Ritterbusch and Associates) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานระบุ
เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป (EU) ตกลงที่จะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียครั้งที่ 15 ในสัปดาห์นี้ อันเนื่องมาจากสงครามของรัสเซียกับยูเครน โดยมุ่งเป้าไปที่กองเรือบรรทุกน้ำมันเงาของรัสเซีย (shadow tanker fleet) ขณะที่สหรัฐฯ ก็กำลังพิจารณาดำเนินการในลักษณะเดียวกัน
อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีแจ้งต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ว่า พวกเขาพร้อมที่จะกลับไปใช้มาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศทั้งหมดต่ออิหร่านหากจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
ข้อมูลจากจีนในสัปดาห์นี้แสดงให้เห็นว่าการนำเข้าน้ำมันดิบของประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกเพิ่มขึ้นในเดือนพ.ย.เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยคาดว่าระดับการนำเข้าน้ำมันจะยังคงสูงต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2568 เนื่องจากโรงกลั่นเลือกที่จะเพิ่มการจัดหาน้ำมันจากซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดเนื่องจากมีราคาที่ถูกลง ขณะที่โรงกลั่นอิสระเร่งใช้โควตาการนำเข้าของพวกเขา
สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของความต้องการน้ำมันทั่วโลกในปี 2568 เป็น 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่คาดไว้ที่ 990,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อเดือนที่แล้ว โดยอ้างถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน
การปล่อยกู้ใหม่ของธนาคารในจีนเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนพ.ย. ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการสินเชื่อที่อ่อนแอในจีนซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ขณะที่ผู้กำหนดนโยบายให้คำมั่นว่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
IEA คาดการณ์ว่าจะมีอุปทานน้ำมันส่วนเกินในปีหน้า เมื่อประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มโอเปกพลัสจะเพิ่มการผลิตน้ำมันประมาณ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยได้รับแรงผลักดันจากอาร์เจนตินา บราซิล แคนาดา กายอานา และสหรัฐฯ
กลุ่มโอเปกพลัสประกอบด้วย กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร เช่น รัสเซีย
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นสมาชิกของโอเปกวางแผนที่จะลดการส่งออกน้ำมันในต้นปีหน้า เนื่องจากกลุ่มโอเปกพลัส มุ่งเน้นการควบคุมการผลิตให้เข้มงวดขึ้น
ราคาน้ำมันดิบที่อิหร่านซึ่งเป็นสมาชิกโอเปกขายให้กับจีนนั้น เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายปี เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ทำให้ความสามารถในการขนส่งลดลงและเพิ่มต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และคาดว่ารัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ จะเพิ่มแรงกดดันต่ออิหร่านด้วย
นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในสัปดาห์หน้า และจะมีการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีหน้า หลังจากที่ข้อมูลเศรษฐกิจบ่งชี้ว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเกินคาด
ราคานำเข้าของสหรัฐฯ แทบไม่เพิ่มขึ้นในเดือนพ.ย. เนื่องจากต้นทุนอาหารและเชื้อเพลิงที่ปรับตัวขึ้นได้ถูกชดเชยโดยการลดลงในส่วนอื่น ๆ ซึ่งเป็นผลจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์
ผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) จำนวน 4 คนสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก หากอัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ตามที่คาดการณ์ไว้ โดยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงสามารถกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเพิ่มความต้องการน้ำมัน