สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร (31 ธ.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนหลังจากที่จีนซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ของโลก เปิดเผยว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ในเดือนธ.ค.
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 73 เซนต์ หรือ 1.03% ปิดที่ 71.72 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 65 เซนต์ หรือ 0.88% ปิดที่ 74.64 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานเมื่อวานนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีน อยู่ที่ระดับ 50.1 ในเดือนธ.ค. ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 50.3 ในเดือนพ.ย. อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI อยู่ที่ระดับสูงกว่า 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนยังคงมีการขยายตัว
ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการซึ่งรวมถึงกิจกรรมในด้านการก่อสร้างด้วยนั้น ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 52.2 ในเดือนธ.ค. จากระดับ 50.0 ในเดือนพ.ย. โดยดัชนี PMI ที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ว่าภาคบริการของจีนยังคงขยายตัวเช่นกัน
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เมื่อคำนวณรวมทั้งปีแล้ว ราคาน้ำมันในปี 2567 ร่วงลงราว 3% โดยลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่สอง สาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งความต้องการใช้น้ำมันที่ชะลอตัวหลังยุคโควิด ปัญหาเศรษฐกิจจีนที่ส่อแววซบเซา รวมถึงการที่สหรัฐฯ และประเทศนอกกลุ่มโอเปกเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบเข้าสู่ตลาดที่มีน้ำมันล้นอยู่แล้ว
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลงประมาณ 3% เมื่อเทียบกับราคาปิดปี 2566 ที่บาร์เรลละ 77.04 ดอลลาร์ ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบ WTI ทรงตัวใกล้เคียงกับราคาปิดปี 2566
ด้านนักลงทุนจะจับตาทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในปี 2568 หลังจากที่ผู้กำหนดนโยบายส่งสัญญาณว่าจะชะลอการลดดอกเบี้ยลง เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงสูง โดยตามหลักแล้ว เมื่อดอกเบี้ยต่ำลง เศรษฐกิจมักจะเติบโตขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มตามไปด้วย
นักวิเคราะห์บางรายมองว่า ตลาดน้ำมันปี 2568 อาจตึงตัวขึ้น โดยขึ้นอยู่กับนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะเรื่องมาตรการคว่ำบาตร
ทั้งนี้ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของสหรัฐฯ จะปิดทำการในวันพุธ (1 ม.ค.) เนื่องในวันปีใหม่