สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% ในวันพุธ (5 ก.พ.) หลังสหรัฐฯ เปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินรายสัปดาห์พุ่งขึ้นมากกว่าคาด ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของอุปสงค์พลังงาน นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่าสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะส่งผลให้เศรษฐกิจอ่อนแอลง
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 1.67 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 71.03 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 1.59 ดอลลาร์ หรือ 2.09% ปิดที่ 74.61 ดอลลาร์/บาร์เรล
ราคาน้ำมันร่วงลง หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบรายสัปดาห์พุ่งขึ้น 8.6 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.4 ล้านบาร์เรล ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 900,000 บาร์เรล
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสองประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก หลังจากจีนตอบโต้มาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ด้วยการประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ ในอัตรา 15% และเรียกเก็บภาษีนำเข้าน้ำมันดิบ อุปกรณ์ทางการเกษตร และรถยนต์บางประเภท ในอัตรา 10% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.
นักลงทุนจับตาการใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน หลังจากปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งให้ใช้ "มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจขั้นสูงสุด" ต่ออิหร่าน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะทำให้การส่งออกน้ำมันของอิหร่านลดลงเหลือศูนย์ ขณะที่มาซูด เปเซชเคียน ประธานาธิบดีอิหร่านได้เรียกร้องให้สมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) รวมตัวกันต่อต้านมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ
ทั้งนี้ อิหร่านซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 3 ในกลุ่มโอเปกนั้น สามารถผลิตน้ำมันได้ 3.3 ล้านบาร์เรล/วัน หรือประมาณ 3% ของการผลิตทั่วโลก