ผลสำรวจครั้งใหญ่ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (University of Melbourne) ร่วมกับเคพีเอ็มจี (KPMG) บริษัทบริการด้านวิชาชีพพบว่า ประชาชนในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีความเต็มใจที่จะเชื่อใจในปัญญาประดิษฐ์ (AI) มากกว่าคนในประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ และยังมองในแง่ดีและตื่นเต้นกับประโยชน์ของเทคโนโลยีนี้มากกว่าด้วย
ผลสำรวจนี้สอบถามจากประชากรกว่า 48,000 คนใน 47 ประเทศระหว่างเดือนพ.ย. 2567 ถึงเดือนม.ค. 2568
ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า ผู้คน 2 ใน 3 ที่ตอบแบบสอบถามนั้นใช้งาน AI อยู่เป็นประจำ และยิ่งไปกว่านั้น 83% เชื่อว่า AI จะนำมาซึ่งประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน
อย่างไรก็ตาม 58% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า เทคโนโลยีนี้ไม่น่าไว้วางใจ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนหน้านี้ ก่อนที่แชตบอต AI เชิงสร้างสรรค์อย่างแชตจีพีที (ChatGPT) จะเปิดตัวในปี 2565
เมื่อ AI เริ่มถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ธุรกิจและรัฐบาลต่าง ๆ จึงต้องพยายามหาจุดสมดุลระหว่างนวัตกรรมกับประเด็นด้านจริยธรรม เช่น การทดแทนแรงงานและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล
นิโคล กิลเลสปี หัวหน้าคณะสำรวจจากเมลเบิร์น บิซิเนสสคูล (Melbourne Business School) กล่าวในวันนี้ (29 เม.ย.) ว่า ความไว้วางใจของสาธารณชนต่อเทคโนโลยี AI และการใช้งานอย่างปลอดภัย เป็นหัวใจสำคัญต่อการยอมรับและการใช้งานอย่างต่อเนื่อง
ผลสำรวจยังพบความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งมีประชาชน 3 ใน 5 ที่ไว้วางใจ AI กับประเทศเศรษฐกิจชั้นนำที่มีประชาชนเพียง 2 ใน 5 ที่ไว้ใจเทคโนโลยีนี้ ขณะที่กิลเลสปีให้เหตุผลว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีการนำ AI มาใช้มากขึ้น และได้รับประโยชน์จาก AI อย่างชัดเจน รวมถึงบทบาทของเทคโนโลยี AI ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้