In Focusทำความรู้จักกับ"สตีฟ บัลเมอร์" (ว่าที่อดีต) ซีอีโอไมโครซอฟท์และตัวเก็งซีอีโอคนใหม่

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 4, 2013 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทันทีที่สตีฟ บัลเมอร์ ซีอีโอตัวเก๋าของไมโครซอฟท์ (Microsoft) ซึ่งเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่ปี 2543 และทำงานให้ไมโครซอฟท์มาเป็นเวลากว่า 30 ปี ประกาศเมื่อปลายเดือนที่แล้วว่า จะลงจากตำแหน่งภายใน 12 เดือน ก็ได้สร้างปฏิกิริยาให้กับผู้ติดตามข่าวแตกต่างกันออกไป บางฝ่ายแสดงความดีใจ เนื่องจากมองว่าศักยภาพการทำงานที่ผ่านมาของบัลเมอร์ไม่ค่อยสู้ดีนักเมื่อดูจากการเติบโตของผลประกอบการ ขณะที่หุ้นไมโครซอฟท์ก็พุ่งขึ้นทันที 7.3% ในวันเดียวกัน ขานรับข่าวดังกล่าว อีกหลายฝ่ายก็เริ่มคาดการณ์แล้วว่า ใครจะเป็นผู้กุมบังเหียนบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีแห่งนี้คนต่อไป วันนี้ In Focus จึงขอพาไปรู้จักชีวิตของ"สตีฟ บัลเมอร์" และตัวเก็งที่ถูกจับตามองว่า จะเป็นซีอีโอไมโครซอฟท์ในอนาคต

*ทำความรู้จักกับสตีฟ บัลเมอร์

บัลเมอร์ ในวัย 57 ปีผู้นี้เกิดที่เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน เริ่มต้นศึกษาด้านวิศวกรรมและจบจากโรงเรียนเตรียมวิทยาลัย Detroit Country Day School ในรัฐมิชิแกนและทำคะแนนทดสอบ SAT ได้อย่างยอดเยี่ยมในพาร์ทคณิตศาสตร์ถึง 800 คะแนน จากนั้นบัลเมอร์ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและจบปริญญาตรีเกียรตินิยมด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์และเศรษฐศาสตร์ สำหรับชีวิตในรั้วฮาวาร์ดนั้น บัลเมอร์ได้พบกับบิล เกตส์ในปี 2516 และยังทำผลงานในการแข่งขัน William Lowell Putnam Mathematical Competition ซึ่งเป็นการแข่งขันคณิตศาสตร์ที่มีเกียรติสูงสุดระดับนักศึกษาปริญญาตรีในสหรัฐและแคนาดา ได้แซงหน้าเกตส์อีกด้วย ต่อมาบัลเมอร์ศึกษาต่อด้านธุรกิจที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดแต่ได้ล้มเลิกกลางครัน เพื่อไปรับตำแหน่งที่ไมโครซอฟท์ในปี เดือนมิ.ย. 2523

*เส้นทางการทำงานกับ Microsoft

บัลเมอร์เริ่มต้นเส้นทางการทำงานในไมโครซอฟท์ในตำแหน่งผู้จัดการด้านธุรกิจ ซึ่งถือเป็นผู้จัดการด้านธุรกิจคนแรกและเป็นพนักงานในลำดับที่ 30 ของบริษัท

ที่ไมโครซอฟท์ บัลเมอร์ได้จับงานหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงาน การพัฒนาระบบปฏิบัติการ รวมทั้งงานขายและการส่งเสริมต่างๆ อีกทั้งยังจูงใจพนักงานด้วยการแทนที่โครงการแจกหุ้นของบริษัทด้วยสต็อกออปชั่นตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นสิทธิที่เปิดทางให้พนักงานไมโครซอฟท์ซื้อหุ้นบริษัทตามราคาที่กำหนดกันไว้ แม้ราคาขายในตลาดอาจสูงกว่าก็ตาม บัลเมอร์ไต่เต้าจนได้รับการโปรโมทเป็นรองประธานบริหารด้านการขายและงานส่งเสริมในเดือนก.พ. 2535 และขึ้นมาเป็นประธานไมโครซอฟท์ตั้งแต่ปี 2541-2545 เป็นรองแค่บิล เกตส์ ซึ่งในขณะนั้นควบทั้งตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทและซีอีโอ

*สู่การเป็นซีอีโอ

ตำแหน่งซีอีโอไมโครซอฟท์นั้นถูกเปลี่ยนมือมาเป็นของบัลเมอร์อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2543 แต่อำนาจเต็มในบริษัทของเขาขณะนั้นยังค่อนข้างคลุมเครืออยู่ เนื่องจากเกตส์ยังคงนั่งเก้าอี้ประธานกรรมการบริษัท รวมทั้งผู้บริหารด้านสถาปนิกซอฟท์แวร์สูงสุด ซึ่งดูแลวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ อย่างไรก็ดี ภายหลังบิล เกตส์ ได้ลงจากตำแหน่งสูงสุดดังกล่าว และได้ร่อนจดหมายให้แก่พนักงานทั่วทั้งบริษัทในปี 2549 ทราบว่า เขาจะลงจากตำแหน่งบริหารอย่างจริงจังเมื่อถึงปี 2551 เพื่อทุ่มเทให้กับงานในมูลนิธิ Bill & Melinda Gates อย่างเต็มตัว

สตีฟ บัลเมอร์ จึงเริ่มได้โชว์ฝีมือในหลายโปรเจคได้อย่างสะดวกโยธิน โดยเขามุ่งเน้นนวัตกรรมที่แต่งต่างไปจากเดิม เรียกได้ว่ายุคภายใต้การกุมบังเหียนของบัลเมอร์นั้นเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ไกลเกินกว่าเทคโนโลยีพีซีด้วยวิธีแบ่งแผนกของพนักงานตามกลุ่มทักษะความสามารถ ขณะเดียวกันรายได้ของไมโครซอฟท์ต่อปียังเพิ่มขึ้นจาก 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็น 7 หมื่นล้านดอลลาร์ ในยุคของเขานอกจากไมโครซอฟท์จะทำเงินจากช่องทางหลักอย่างธุรกิจระบบปฏิบัติการณ์วินโดวส์และชุด Microsoft Office แล้ว บัลเมอร์ยังได้แตกแขนงธุรกิจใหม่ๆ ได้แก่ แผนกศูนย์ข้อมูล แผนกอุปกรณ์และความบันเทิง Xbox ซึ่งเป็นอุปกรณ์เกมคอนโซล เป็นต้น สำหรับผลงานที่เรียกว่าเป็นหัวแก้วหัวแหวนของบัลเมอร์นั่นก็คือ ระบบปฏิบัติการ Windows 7 ซึ่งเจ้าตัวได้เปิดเผยในจดหมายของบริษัทว่า Windows 7 เป็นระบบปฏิบัติการที่ดีที่สุดเท่าที่ไม่โครซอฟท์เคยสร้างมา (จดหมายเขียนขึ้นในปี 2552)

อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 ถือเป็นช่วงมรสุมของบัลเมอร์ เนื่องจากเขาตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการเติบโตของรายได้บริษัทที่ไม่สามารถต่อกรกับคู่แข่งสำคัญอย่างแอปเปิ้ล อิงค์ ที่สามารถทำเงินเป็นกอบเป็นกำจากการผลิตอุปกรณ์ยุคหลังพีซี (Post-PC) อาทิ ไอโฟน และไอแพด แม้ทางไมโครซอฟท์เองจะคลอด Windows Phone ออกมาเช่นกัน ผู้ที่ออกมาโจมตีหนักสุดคงหนีไม่พ้น เดวิด ไอน์ฮอร์น ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟัน ที่เรียกร้องให้บัลเมอร์ลงจากตำแหน่งซีอีโอ เนื่องจากราคาหุ้นไมโครซอฟท์ในสมัยบัลเมอร์นั้นไม่ขยับเขยื้อน โดยระบุว่า การที่ไมโครซอฟท์มีบัลเมอร์อยู่นั้น ถือเป็นภัยคุกคามต่อหุ้นของบริษัท

*บัลเมอร์เตรียมวางมือ,"สเตเฟน อีลอป" ตัวเก็งซีอีโอดาวรุ่งพุ่งแรง

วันที่ 23 ส.ค. 2556 ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่วงการไอทีต้องตะลึง เนื่องจากบัลเมอร์ร่อนจดหมาย ใจความว่าจะลงจากตำแหน่งซีอีโอไมโครซอฟท์ในอีก 12 เดือนข้างหลังสิ้นสุดการสรรหาผู้สืบทอดตำแหน่งคนใหม่ โดยบัลเมอร์ระบุว่า เป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการลงจากตำแหน่งอย่างยิ่ง เพราะเดิมทีเขาคิดจะปลดเกษียณตนเองช่วงระหว่างการแปลงสภาพให้ไมโครซอฟท์เป็นบริษัทแห่งอุปกรณ์เคลื่อนที่และบริการเอาไว้ตั้งแต่แรก

จึงทำให้หลายๆฝ่ายเริ่มคาดการณ์แล้วว่าใครจะเป็นผู้กุมชะตาไมโครซอฟท์ในอนาคต ในบรรดาตัวเก็งคนสำคัญ ที่น่าสนใจก็คือเชอรีล แซนดเบิร์ก ซึ่งถูกมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ดึงตัวมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่ดำเนินงานสูงสุด (COO) ของเฟสบุ๊ก ซึ่งเป็นผู้จุดประกายให้เฟสบุ๊กสามารถทำเงินได้จากการเปิดพื้นที่โฆษณา นอกจากนี้ยังมี สก็อต ฟอร์ตสตอร์ อดีตรองประธานอาวุโส (SVP) สาย iOS ของแอปเปิ้ลซึ่งลาออกจากบริษัท หลังแอปเปิ้ลปรับผังองค์กรขนานใหญ่เมื่อปลายปี 2555

ที่ขาดไม่ได้คือ ตัวเก็งดาวรุ่งคนล่าสุดอย่าง “สตีเฟน อีลอป" ที่ยุติบทบาทซีอีโอที่โนเกียลงทันที ภายหลังไมโครซอฟท์ตกลงซื้อธุรกิจมือถือและการบริการของบริษัทโนเกีย รวมทั้งสิทธิบัตรต่างๆ เป็นมูลค่า 5.44 พันล้านยูโรเมื่อวานนี้ มีผลให้พนักงานทั้งหมดในแผนกธุรกิจดังกล่าว 32,000 คนจะถูกโยกมาเป็นพนักงานของไมโครซอฟท์ ซึ่งรวมถึงนายอีลอปที่จะกลับคืนสู่ไมโครซอฟท์ในตำแหน่งรองประธานบริหารด้านอุปกรณ์ (EVP) หลังจากการประกาศเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ สตีฟ บัลเมอร์ ยังได้เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ซีแอทเทิล ไทม์สว่า การกลับมาของอีลอปครั้งนี้ทำให้เขากลายเป็นว่าที่ซีอีโอจากคนภายในบริษัท จากเดิมที่เป็นตัวเก็งจากภายนอก

เมื่อต้องรอกันอีกหลายเดือน เราก็คงต้องลุ้นกันต่อไปว่าสุดท้ายใครจะได้ครอบครองตำแหน่งซีอีโอของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีแห่งนี้ ซึ่งถ้าหากมีข่าวสารล่าสุดในเรื่องนี้ ทางเราจะเกาะติดสถานการณ์และรายงานความเคลื่อนไหวทันที ...


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ