วงการไอทีและอีคอมเมิร์ซโลกต้องสะเทือน เมื่อ "อาลีบาบา" ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของจีน ได้ยื่นเอกสารสำหรับการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยตั้งเป้าระดมทุนเป็นเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ แต่นักวิเคราะห์คาดว่าอาจจะระดมทุนได้สูงถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือสูงกว่าที่เฟซบุ๊กเคยทำไว้เมื่อปี 2555 ที่ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง อาลีบาบาจะเป็นบริษัทจีนที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ และจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์
แม้อาลีบาบาจะยิ่งใหญ่มากในประเทศจีน และกำลังจะผงาดในเวทีโลก แต่ชื่อนี้ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้างในเมืองไทยและอีกหลายประเทศ ด้วยเหตุนี้ การทำความรู้จักกับว่าที่ยักษ์ใหญ่ในวงการอีคอมเมิร์ซโลกจึงเป็นเรื่องที่สมควรเป็นอย่างยิ่ง
ผู้ก่อตั้ง"อาลีบาบา"
หม่า หยุน หรือแจ๊ค หม่า ปัจจุบันอายุ 49 ปี เคยเป็นเด็กเอ็นท์ไม่ติดสองครั้ง แต่ก็พยายามจนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยครูแห่งเมืองหังโจว (Hangzhou Normal University) ได้สำเร็จ และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาภาษาอังกฤษ หลังจากนั้นก็ได้เป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษและการค้าระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยหังโจวเตียนจี (Hangzhou Dianzi University) และหลังจากที่ต้องฝ่าฟันอะไรมามากมาย แจ๊ค หม่า ได้ก่อตั้งบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป ขึ้นในปี 2542 และดำรงตำแหน่งประธานบริษัท ปัจจุบัน อาลีบาบา กรุ๊ป มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือธนาคารซอฟต์แบงก์ของญี่ปุ่น โดยถือหุ้น 34.4% นอกจากนั้นยังมียาฮู ซึ่งถือหุ้น 22.6% และนายแจ๊ค หม่า ถือหุ้น 8.9% ส่วนที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยกลุ่มอื่นๆ
ชื่อบริษัท
หลายคนคงนึกสงสัยว่า บริษัทจีนแห่งนี้ทำไมจึงมีชื่อที่ไม่ได้บ่งบอกถึงความเป็นจีนเลย แจ๊ค หม่า เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ Talk Asia ของ CNN เมื่อปี 2549 ถึงที่มาของชื่ออาลีบาบาว่า "วันหนึ่ง ผมอยู่ในร้านกาแฟในซานฟรานซิสโก อยู่ๆผมก็คิดว่าอาลีบาบาเป็นชื่อที่ดี พอดีพนักงานเสิร์ฟเดินมา ผมถามเธอว่ารู้จักอาลีบาบาไหม เธอตอบว่ารู้จัก ผมถามต่อว่าคุณรู้อะไรเกี่ยวกับอาลีบาบา เธอตอบว่า "Open Sesame" (ประตูจงเปิด) ตอนนั้นผมคิดว่าชื่อนี่แหละใช่เลย! จากนั้นผมเดินไปถามผู้คนตามท้องถนนประมาณ 30 คนว่ารู้จักอาลีบาบาไหม ทั้งคนอินเดีย คนเยอรมัน คนญี่ปุ่น คนจีน ทุกคนรู้จักอาลีบาบาหมด อาลีบาบา-ประตูจงเปิด อาลีบาบา-กับโจร 40 คน แต่อาลีบาบาไม่ใช่โจร อาลีบาบาเป็นพ่อค้าที่ฉลาดและมีเมตตา และเขาช่วยคนในหมู่บ้าน อาลีบาบา ชื่อนี้สะกดง่ายและรู้จักกันทั่วโลก อาลีบาบาจะเปิดประตูให้กับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม"
ธุรกิจเด่นในเครือ
-Alibaba เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซแบบ Business-to-Business (B2B) สำหรับทำธุรกรรมระหว่างองค์กรธุรกิจด้วยกันเอง ซึ่งมีทั้งภาษาจีน (Alibaba.com.cn) สำหรับการซื้อขายในประเทศจีน และภาษาอังกฤษ (Alibaba.com) สำหรับการซื้อขายทั่วโลก รวมถึงภาษาญี่ปุ่น (Alibaba.co.jp) ด้วย
-Taobao.com เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซแบบ Consumer-to-Consumer (C2C) เพื่อให้ผู้บริโภคได้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน
- Tmall.com เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซแบบ Business-to-Customer (B2C) เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้ขายสินค้าให้กับผู้บริโภค
- AliExpress.com เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซลักษณะเดียวกับอาลีบาบา แต่เน้นขายสินค้าในปริมาณที่น้อยกว่า เหมาะสำหรับผู้ขายรายเล็กและลูกค้ารายย่อย
- Alipay.com ระบบชำระเงินออนไลน์ที่สะดวกและปลอดภัย โดยลูกค้าต้องสมัครบัญชี Alipay ไว้ และเมื่อซื้อสินค้าออนไลน์ลูกค้าก็โอนเงินเข้าระบบ Alipay จากนั้นระบบจะเก็บเงินไว้จนกว่าลูกค้าจะได้รับสินค้าจริง และเมื่อลูกค้าพึงพอใจในสินค้าที่ได้รับ ระบบจึงจะส่งเงินไปยังผู้ขายต่อไป
ผลการดำเนินงาน
ในปี 2556 มีสมาชิกผู้ใช้บริการซื้อขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ต่างๆของอาลีบาบาจำนวน 231 ล้านบัญชี และมีมูลค่าการซื้อขายสินค้าถึง 2.48 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่า Amazon และ eBay รวมกัน นอกจากนี้ มูลค่าการซื้อขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ต่างๆของอาลีบาบาในปี 2556 ยังมีสัดส่วนสูงถึง 80% ของมูลค่าการซื้อขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ทั้งหมดในจีน ซึ่งมีมูลค่ารวม 2.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในปีงบการเงิน 2556 (กันยายน 2555 – กันยายน 2556) อาลีบาบา กรุ๊ป มีรายได้ 6.73 พันล้านดอลลาร์ พุ่งขึ้น 65.0% จากระดับ 4.08 พันล้านดอลลาร์ในปีงบการเงิน 2555
ขณะเดียวกัน iResearch องค์กรวิจัยชั้นนำซึ่งมุ่งวิจัยอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตในจีน ประเมินว่ารายได้รวมของอาลีบาบา กรุ๊ป ในช่วงเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2556 น่าจะทะลุ 7 พันล้านดอลลาร์ หรือทะยานขึ้น 53.0% จากระดับ 4.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2555
ขณะนี้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐกำลังพิจารณาสถานะทางการเงินของอาลีบาบาก่อนที่จะกำหนดวันซื้อขายหุ้นในตลาด และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าบริษัทจะนำหุ้นเข้าตลาดหุ้นนิวยอร์ก (NYSE) หรือตลาดนาสแดค (NASDAQ) การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐถือเป็นเพียงก้าวแรกสู่เวทีโลก เพราะปัจจุบันชื่อเสียงของอาลีบาบาโด่งดังเฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น ขณะที่คนต่างชาติส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จักเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซรายนี้ ดังนั้นจึงเป็นที่น่าจับตามองว่าการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญนี้อาจทำให้อาลีบาบากลายเป็นเจ้าแห่งวงการอีคอมเมิร์ซโลกได้อย่างแท้จริงในอนาคต