นายริชาร์ด หยู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป เปิดเผยในงาน Huawei Developer Conference ที่ประเทศจีนว่า HarmonyOS ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการใหม่นั้น มีคุณสมบัติเด่น 4 ประการ ได้แก่
1. ทำงานได้อย่างต่อเนื่องในทุกอุปกรณ์: HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทดีไวซ์ระบบแรกที่เป็นระบบแบบกระจาย (Distributed Operating System) จึงสามารถทำงานได้กับทุกอุปกรณ์
HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติการที่สามารถรองรับคุณสมบัติอันชาญฉลาด ทั้ง Shared Communications Platform, Distributed Data Management,Distributed Task Scheduling และ Virtual Peripherals นอกจากนี้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ ของแอปพลิเคชันได้อย่างเต็มที่ โดยไม่จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดเชิงลึกของการพัฒนาแอปพลิเคชันให้เหมาะสมกับอุปกรณ์รุ่นต่างๆ อีกทั้งยังช่วยให้การจัดจำหน่ายหรือการนำเสนอแอปพลิเคชันสำหรับอุปกรณ์ประเภทต่างๆ เป็นไปโดยง่าย เพราะระบบปฏิบัติการนี้มีสถาปัตยกรรมของระบบปฏิบัติการเป็นแบบ Distributed OS และรองรับเทคโนโลยี Distributed Virtual Bus โดยแอปพลิเคชั่นสำหรับระบบปฏิบัติการนี้จะสามารถใช้งานกับอุปกรณ์ที่แตกต่างกันได้อย่างต่อเนื่อง
2. ทำงานได้อย่างลื่นไหลบนเทคโนโลยี Deterministic Latency Engine และ high-performance IPC
HarmonyOS ใช้เทคโนโลยี Deterministic Latency Engine และ High-Performance Inter Process Communication (IPC) เพื่อการทำงานที่ลื่นไหล โดยเทคโนโลยี Deterministic Latency Engine จะช่วยจัดลำดับคำสั่งที่ต้องทำงานก่อนและตั้งกรอบเวลาสำหรับการทำงานของคำสั่งต่างๆ ไว้ล่วงหน้าได้ ช่วยให้ทรัพยากรของระบบสามารถจัดการกับการทำงานที่สำคัญกว่าได้ก่อน ลดอาการหน่วงของแอปพลิเคชันลงได้ถึง 25.7% นอกจากนี้ Microkernel ที่หัวเว่ยใช้ยังสอดคล้องกับเทคโนโลยี IPC ส่งผลให้ประสิทธิภาพของ IPC สูงกว่าระบบปฏิบัติการอื่นๆ ถึง 5 เท่า
3. ความปลอดภัยสูง: สร้างนิยามใหม่ของความปลอดภัยตั้งแต่แกนระบบ จากการใช้ Microkernel
HarmonyOS ใช้สถาปัตยกรรม Microkernel แบบใหม่ล่าสุด ที่มีความปลอดภัยสูงและทำงานได้ลื่นไหลกว่าเดิม และช่วยให้การพัฒนาเคอร์เนลระบบเป็นไปโดยง่ายขึ้น เนื่องจาก Microkernel จะทำหน้าที่ในการพัฒนาเคอร์เนลระบบให้สามารถรองรับการทำงานที่สำคัญได้ เช่น การกำหนดลำดับการทำงานของคำสั่งต่างๆ บนเธรด (Thread) และระบบ IPC
Microkernel ของระบบปฏิบัติการ HarmonyOS มีระบบการยืนยันแบบ Formal Verification ที่ทำงานบน Trusted Execution Environment (TEE) อันเป็นแนวคิดใหม่ของระบบความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของระบบ โดยระบบการยืนยันแบบ Formal Verification นั้น ทำงานโดยอาศัยการสร้างโมเดลข้อมูลเพื่อตรวจสอบทุกส่วนของซอฟต์แวร์ และใช้กลไกทางคณิตศาสตร์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของระบบตั้งแต่แหล่งที่มา ซึ่งแตกต่างจากระบบการยืนยันแบบเดิม เช่น แบบ Functional Verification หรือ แบบ Attack Simulation ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบความปลอดภัยได้อย่างเต็มรูปแบบ
HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติแรกที่มีระบบการยืนยันแบบ Formal Verification ที่ทำงานบน TEE ซึ่งยกระดับความปลอดภัยให้สูงขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะระบบปฏิบัติการนี้มีจำนวนบรรทัดของโค้ดที่ใช้ในการพัฒนาน้อยกว่าระบบปฏิบัติการอื่นๆ เนื่องจากการใช้ระบบ Microkernel มีจำนวนบรรทัดโค้ดที่น้อยกว่าระบบปฏิบัติการที่พัฒนาจาก Linuxkernel ถึง 1 ต่อ 1,000 ทำให้ HarmonyOS มีช่องโหว่ของระบบน้อยกว่าระบบปฏิบัติการอื่นอย่างมาก
4. พัฒนาแอปพลิเคชันเพียงครั้งเดียวก็ใช้งานได้ทุกอุปกรณ์ ด้วย Multi-Device IDE
HarmonyOS รองรับระบบ Multi-Device IDE ซึ่งเป็นระบบที่รองรับภาษาคอมพิวเตอร์หลากหลายภาษาและมีสถาปัตยกรรมที่รองรับการพัฒนาแอปพลิเคชันแบบเฉพาะ ตัวระบบปฏิบัติการจึงสำมารถปรับขนาดให้เหมาะสมกับหน้าจอ ตัวป้อนคำสั่ง หรือเครื่องมือสำหรับการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ที่แตกต่างกันได้โดยอัตโนมัติ อีกทั้งยังรองรับทั้งการลากและวาง รวมไปถึงการพรีวิวซอฟต์แวร์แบบเสมือนจริงในขั้นตอนกำรพัฒนาอีกด้วย นักพัฒนาซอฟต์แวร์จึงสามารถลดเวลาที่ต้องใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้รองรับทุกอุปกรณ์ได้ เพราะระบบ Multi-device IDE ช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถเขียนชุดคำสั่งเพียงครั้งเดียวก็นำซอฟต์แวร์ของตนไปใช้งานได้กับทุกอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS อีกทั้งยังช่วยยกระดับการทำงานกับอุปกรณ์ที่หลากหลายอย่างไร้รอยต่อไปอีกขั้น
HUAWEI ARK Compiler เป็นคอมไพเลอร์แบบ Static ตัวแรกที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ Virtual Machine ของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งจะช่วยให้นักพัฒนาสามารถรวบรวมโค้ดที่ซับซ้อนมาเพื่อให้ระบบแปลงเป็นโค้ดที่เรียบง่ายสำหรับการทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว HUAWEI ARK Compiler จึงเอื้อประโยชน์ให้กับนักพัฒนาเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติการที่เรียบง่ายแต่เปี่ยมประสิทธิภาพ โดยหัวเว่ยจะเริ่มต้นใช้ระบบปฏิบัติการนี้กับอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ เช่น สมาร์ทวอช (Smart Watch) สมาร์ททีวี (Smart Screen) ระบบอินโฟเทนเมนท์ในรถยนต์ (In-Vehicle Systems) และลำโพงอัจฉริยะ หัวเว่ยคาดหวังว่าการพัฒนาระบบปฏิบัติการนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคที่ใช้งานผลิตภัณฑ์หัวเว่ย ได้รับประสบการณ์การใช้งานอุปกรณ์ได้อย่างต่อเนื่อง มีความปลอดภัย และรองรับการใช้งานกับทุกๆ อุปกรณ์