บริษัทแอปเปิล อิงค์ ขึ้นให้การต่อศาลอุทธรณ์ยุโรปในวันนี้ว่า คำสั่งของสหภาพยุโรป (EU) ในปี 2559 ในการบังคับให้แอปเปิลจ่ายภาษีย้อนหลังให้แก่รัฐบาลไอร์แลนด์เป็นจำนวนเงิน 1.3 หมื่นล้านยูโร (1.4 หมื่นล้านดอลลาร์) ถือเป็นคำสั่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และสวนทางกับสามัญสำนึก
นอกจากนี้ แอปเปิลยังกล่าวหาคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ว่า ได้ใช้อำนาจในมือในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งพยายามแก้ไขระบบภาษีระหว่างประเทศ ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนต่อภาคธุรกิจ
แอปเปิลระบุว่า ทางบริษัทได้ชำระภาษีในอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่ระดับ 26% และแอปเปิลนับเป็นบริษัทที่เสียภาษีมากที่สุดทั่วโลก ซึ่งขณะนี้ได้จ่ายภาษีราว 2 หมื่นล้านยูโรในสหรัฐจากกำไรตัวเดียวกันกับที่ EC ระบุว่าต้องมีการเสียภาษีในไอร์แลนด์
ทั้งนี้ EC มีคำตัดสินในเดือนส.ค.2559 ว่า การที่รัฐบาลไอร์แลนด์ให้ผลประโยชน์ด้านภาษีแก่บริษัทแอปเปิลถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือของรัฐใน EU เนื่องจากไอร์แลนด์อนุญาตให้แอปเปิลสามารถจ่ายภาษีน้อยกว่าบริษัทอื่นๆ
ที่ผ่านมา รัฐบาลไอร์แลนด์ใช้นโยบายกำหนดอัตราภาษีในระดับต่ำเพื่อจูงใจให้บริษัทต่างชาติเข้าลงทุนในประเทศ ขณะที่แอปเปิลมีการจ้างงานพนักงานจำนวน 5,500 คนในไอร์แลนด์
คาดว่าศาลอุทธรณ์ยุโรปจะประกาศคำตัดสินในคดีดังกล่าวในอีกหลายเดือนข้างหน้า และคาดว่าฝ่ายที่พ่ายแพ้จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลยุติธรรมของยุโรป ซึ่งการตัดสินในขั้นสุดท้ายจะใช้เวลานานปลายปี