Herta บริษัทเทคโนโลยีจดจำใบหน้าจากสเปน เปิดตัวอัลกอริทึมจดจำใบหน้าเวอร์ชันใหม่ล่าสุดที่สามารถแยกแยะตัวบุคคลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ แม้ใส่หน้ากากอนามัย หวังช่วยทั่วโลกแยกแยะตัวบุคคลได้อย่างแม่นยำท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่การใส่หน้ากากอนามัยเป็นเรื่องจำเป็น
Herta เปิดเผยว่า บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวมาได้ระยะหนึ่งแล้ว และเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลก บริษัทจึงยิ่งเร่งการพัฒนาเพื่อเปิดตัวซอฟต์แวร์เวอร์ชันใหม่ เพื่อให้ตอบรับกับการใช้งานในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
อัลกอริทึมของ Herta ใช้เทคโนโลยี Deep Learning ซึ่งมีอัตราการแยกแยะสูงมาก โดยเฉพาะการยืนยันตัวตน และมีความน่าเชื่อถือสูงมากเช่นกัน แม้ว่าบุคคลจะปิดบังใบหน้าเกือบทั้งหมดก็ตาม ซึ่งส่วนที่แยกแยะได้ชัดเจนที่สุดบนใบหน้าของมนุษย์คือบริเวณดวงตา
ซอฟต์แวร์ใหม่มีประโยชน์ต่อระบบยืนยันตัวตนผู้โดยสารอัตโนมัติ เช่น ระบบควบคุมการผ่านแดนโดยใช้หนังสือเดินทาง โดยผู้ผ่านแดนไม่จำเป็นต้องถอดหน้ากากอนามัย จึงช่วยหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของโรคและไม่ต้องรอคิวนาน นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์ใหม่ยังสามารถนำไปใช้กับระบบควบคุมการเข้า-ออก หรือระบบยืนยันตัวตนทุกประเภท
Herta คาดการณ์ว่า เทคโนโลยีใหม่นี้จะมีอิทธิพลอย่างมากทั่วโลก และจะถูกนำไปใช้เป็นวงกว้างในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ภาครัฐ การคมนาคม สุขภาพ การจัดอีเวนต์ การแข่งขันกีฬา และการแข่งขันเกม
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน สนามบินหลายแห่งของโลก เช่น ญี่ปุ่น และจีน ได้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า หรือ Face Recognition มาใช้แล้ว เพื่อปรับปรุงการบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ดี เนื่องจากการจดจำใบหน้าและการยืนยันตัวตนถือเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลและความมั่นคงจึงต้องมีการพิจารณาข้อกฎหมายต่างๆ อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะเมื่อพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ซึ่งระบบจดจำใบหน้าอาจทำให้เกิดประเด็นโต้แย้งทางกฎหมายได้
โดยกรมท่าอากาศยานจะพิจารณาถึงความเหมาะสมและรูปแบบในการดำเนินงาน รวมถึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกัน เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และสายการบิน เพื่อให้มั่นใจว่าระบบที่พัฒนาขึ้นต้องมีความปลอดภัยสูง ไม่ละเมิดต่อกฎหมายในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุลคล