กระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลไม่รับคำฟ้องของบริษัทเทคโนโลยีอย่างทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และกูเกิล ซึ่งบริษัทเหล่านี้ได้ยื่นฟ้องเพื่อคัดค้านคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่ต้องการให้ทบทวนกฎหมายที่เคยให้การคุ้มครองแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยรัฐบาลสหรัฐระบุในคำร้องต่อศาลว่า คำคัดค้านของบริษัทเทคโนโลยีกลุ่มนี้เป็น "ความเข้าใจผิดอย่างมาก" ทั้งนี้ เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำการทบทวนกฎหมายที่เคยให้การคุ้มครองทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และกูเกิล จากการต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่ถูกโพสต์โดยผู้ใช้งาน โดยปธน.ทรัมป์มีแผนที่จะลงนามในคำสั่งพิเศษเพื่อควบคุมบริษัทด้านโซเชียลมีเดียให้เข้มงวดยิ่งขึ้น และหากแพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ปฏิบัติตาม ก็จะถูกสั่งปิดการใช้งาน
การที่ปธน.ทรัมป์สั่งให้มีการทบทวนกฎหมายคุ้มครองโซเชียลมีเดียนั้น เนื่องจากเขาไม่พอใจกับการที่ทวิตเตอร์ได้ติดแถบข้อความเตือนเกี่ยวกับข่าวปลอมหรือ "เฟคนิวส์" ไว้ใต้ทวีตข้อความของเขาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทางไปรษณีย์
รายงานระบุว่า คำสั่งพิเศษดังกล่าวจะกำหนดให้คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐ (FCC) เสนอและชี้แจงกฎระเบียบต่างๆ ภายใต้มาตรา 230 ของกฎหมาย "Communications Decency Act" ซึ่งเป็นกฎหมายที่ช่วยให้แพลตฟอร์มออนไลนได้รับการยกเว้นจากพันธกรณีทางกฎหมายในกรณีที่ผู้ใช้งานโพสต์ข้อความต่างๆ ลงบนแพลตฟอร์ม ซึ่งการทบทวนกฎหมายดังกล่าว อาจทำให้บริษัทด้านโซเชียลมีเดียเผชิญกับการดำเนินคดีทางกฎหมายมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ศูนย์ประชาธิปไตยและเทคโนโลยี (CDT) ซึ่งเป็นสมาคมด้านเทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และกูเกิล จึงได้ยื่นคัดค้านคำสั่งดังกล่าวในเดือนมิ.ย. โดยแย้งว่าคำสั่งนี้ละเมิดสิทธิตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (First Amendment) และจะบั่นทอนเสรีภาพในการแสดงออกของชาวอเมริกัน