ทางหน่วยงานจะตรวจสอบรถยนต์ที่ใช้ระบบ Autopilot ของเทสลาที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2557 เป็นจำนวนรวมกัน 765,000 คันในสหรัฐ และเมื่อตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว ทางหน่วยงานอาจไม่ได้ดำเนินการใดๆ ต่อ หรือไม่ก็ประกาศเรียกคืน
หากมีการเรียกคืนแล้ว ระบบ Autopilot ของเทสลาก็น่าจะถูกจำกัดการทำงาน และช่วยลดช่องว่างทางการแข่งขันระหว่างระบบของเทสลากับระบบของบริษัทชั้นนำรายอื่นๆ โดย NHTSA จะบังคับให้เทสลาเรียกคืนได้ก็ต่อเมื่อยกระดับการสอบสวนสู่ขั้นการวิเคราะห์ทางวิศวกรรมแล้ว ซึ่งมักใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี
NHTSA เปิดเผยว่า รถยนต์เทสลาเกิดอุบัติเหตุมาแล้ว 11 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2561 โดยนับเพียงอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการชนเข้ากับยานยนต์ที่ปฏิบัติภารกิจฉุกเฉิน โดยอุบัติเหตุเหล่านี้ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 17 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตนั้นมาจากการที่รถยนต์เทสลารุ่น Tesla Model 3 ชนเข้ากับรถดับเพลิงที่กำลังจอดอยู่เมื่อเดือนธันวาคม 2562
อุบัติเหตุทั้งหมดนี้ได้รับการยืนยันแล้วว่ามีความเกี่ยวข้องกับระบบ Autopilot หรือไม่ก็ Traffic Aware Cruise Control
เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความไม่ไว้วางใจในระบบ Autopilot ของเทสลาซึ่งเป็นระบบขับเคลื่อนรถยนต์กึ่งอัตโนมัติ เนื่องจากมีการเกิดอุบัติเหตุก่อนหน้านี้หลายครั้ง ขณะที่ NHTSA ถูกวิจารณ์อย่างหนักเพราะเคยปิดฉากการสอบสวนระบบ Autopilot เมื่อปี 2560 แต่ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ต่อ
รายงานข่าวดังกล่าวส่งผลให้หุ้นเทสลาร่วงลง 4.32% ในการซื้อขายเมื่อคืนนี้