ข้อมูลจากรายงานฉบับใหม่ของกูเกิล, เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ และเบน แอนด์ คัมพานีที่เปิดเผยในวันนี้ (10 พ.ย.) ระบุว่า ประชากรมากกว่า 75% ใน 6 ประเทศใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และส่วนใหญ่เคยซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีเปิดเผยข้อมูลในรายงานดังกล่าวที่ระบุว่า ประชาชนมากถึง 40 ล้านคนทั่วสิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนามและไทยได้เข้าถึงระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกในปีนี้ ซึ่งส่งผลให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใน 6 ประเทศนั้นเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 440 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ราว 80% เคยซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง
อย่างไรก็ดี รายงานฉบับนี้ไม่ได้ระบุถึงประชากรของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด โดยไม่รวมประเทศสมาชิกอาเซียนบางแห่งได้แก่ บรูไน, กัมพูชา, ลาวและเมียนมา รวมถึง ติมอร์ตะวันออกและปาปัวนิวกินี
รายงานฉบับดังกล่าวซึ่งจัดทำขึ้นเป็นปีที่ 6 ระบุว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้บริการระบบดิจิทัลพุ่งทะยานขึ้น เช่น อี-คอมเมิร์ซ, บริการจัดส่งอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค และการชำระเงินออนไลน์ โดยประชาชนมากกว่า 60 ล้านคนในภูมิภาคนี้ใช้บริการระบบดิจิทัลเป็นครั้งแรกเพราะผลพวงจากโรคโควิด-19 และในจำนวนนี้ราว 20 ล้านคนเริ่มต้นใช้บริการดังกล่าวในช่วงครึ่งแรกของปี 2564
รายงานฉบับนี้คาดการณ์ว่า ยอดมูลค่าการค้ารวม (Goss Merchandize Value -- GMV) ในภาคอินเตอร์เน็ตใน 6 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดังกล่าว อาจแตะ 1.74 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้น 49% จากปีที่แล้ว โดยอี-คอมเมิร์ซได้ขับเคลื่อนการเติบโตมากที่สุด
ทั้งนี้ GMV นั้นเป็นมาตรวัดที่นิยมใช้มากที่สุดในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นการวัดมูลค่ายอดขายสินค้ารวมในรูปสกุลเงินดอลลาร์ในช่วงเวลาหนึ่ง