นายอีลอน มัสก์ ผุดไอเดียยกเครื่องกระบวนการยืนยันตัวตน (Verification process) ของผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในวันอังคาร (1 พ.ย.) หลังเขาเพิ่งซื้อกิจการดังกล่าวไปด้วยข้อตกลงมูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อไม่นานมานี้
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า นายมัสก์ได้วิพากษ์วิจารณ์ระบบยืนยันตัวตนในปัจจุบันของทวิตเตอร์ผ่านทางบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว ซึ่งเป็นการมอบ "เครื่องหมายถูกสีขาวบนพื้นหลังสีฟ้า" (Blue check mark) หรือ "การยืนยันตัวตน" (Verification) ให้กับบรรดาผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่มีชื่อเสียง เช่น นักการเมือง สื่อมวลชน ผู้บริหาร รวมถึงบุคคลและองค์กรต่าง ๆ เพื่อยืนยันว่าผู้ใช้งานทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าวเป็นตัวจริง โดยเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่น ๆ เช่น เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมของเมตาก็มีระบบยืนยันตัวตนลักษณะเดียวกัน
นายมัสก์ระบุว่า เขาจะมอบ "อำนาจให้แก่ผู้คน" ด้วยการเสนอบริการ "การยืนยันตัวตน" ผ่านการสมัครสมาชิกบริการทวิตเตอร์บลู (Twitter Blue) ที่มีค่าธรรมเนียม 8 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยผู้ใช้บริการดังกล่าวจะได้รับความสำคัญเป็นอันดับแรกในฟังก์ชัน "การเอ่ยถึง" (Mention) รวมถึง การตอบกลับ (Reply) และการค้นหา (Search) นอกจากนี้ ยังจะได้รับโฆษณาน้อยลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับผู้ใช้งานที่ไม่ได้ใช้บริการทวิตเตอร์บลู อีกทั้งยังจะสามารถโพสต์วิดีโอและข้อความเสียงแบบยาวได้อีกด้วย
นอกจากนี้ นายมัสก์ระบุเสริมว่า แท็กรอง (Secondary tag) จะปรากฏด้านล่างชื่อของผู้ใช้งานที่เป็นบุคคลสาธารณะ ซึ่งนายมัสก์ระบุว่าปัจจุบันปรากฏอยู่บนบัญชีทวิตเตอร์ของบรรดานักการเมือง
นายมัสก์กล่าวต่อว่า ผู้ใช้บริการทวิตเตอร์บลูนั้นจะได้รับสิทธิ์ "เลี่ยงกำแพงจ่ายเงิน" (Paywall bypass) ในการเข้าชมเนื้อหาของบรรดาผู้เผยแพร่ที่ตกลงร่วมเป็นพันธมิตรกับทวิตเตอร์ โดยเขาอ้างว่า วิธีการดังกล่าวนั้นจะช่วย "ทำลายบอต" ด้วยการเพิ่ม "ต้นทุนทางอาชญากรรมบนทวิตเตอร์ตามลำดับความสำคัญที่หลากหลาย" พร้อมเสริมว่า บัญชีผู้ใช้งานทวิตเตอร์บลูที่เกี่ยวข้องกับสแปมจะถูกระงับบัญชี
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงหรือไม่
อนึ่ง เว็บไซต์เดอะ เวิร์จ (The Verge) เพิ่งเผยแพร่รายงานเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า นายมัสก์กำลังพิจารณาเก็บค่าบริการสมาชิกทวิตเตอร์บลูสูงถึง 19.99 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยพนักงานทวิตเตอร์ที่รับผิดชอบโปรเจกต์ดังกล่าวมีเวลาถึงวันที่ 7 พ.ย.ในการเปิดตัวฟีเจอร์ดังกล่าว หากดำเนินการไม่สำเร็จก็จะถูกไล่ออก