สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนโดยอาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตจากแร่ลิเธียม โคบอลต์ แมงกานีส และนิกเกิลคุณภาพสูง ซึ่งราคาของวัตถุดิบเหล่านี้ได้พุ่งทะยานขึ้น ทำให้ผู้ผลิตในชาติตะวันตกต้องดิ้นรนอย่างมากเพื่อไล่ให้ทันคู่แข่งจากฝั่งเอเชีย และผู้ผลิตรถยนต์คาดว่า การผลิตรถยนต์จะเผชิญกับปัญหาติดขัดด้านอุปทานในช่วงกลางทศวรรษหน้า
รถยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคตดังกล่าว ซึ่งมีแนวโน้มจะมาหลังจากปี 2568 จะสามารถเปลี่ยนจากการใช้แบตเตอรี่แบบดั้งเดิมมาสู่การใช้แบตเตอรี่โซเดียมไอออน หรือ ซัลเฟอร์ไอออนได้ ซึ่งจะมีราคาถูกกว่าแบตเตอรี่ในปัจจุบันถึง 2 ใน 3
อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวนั้นขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าด้านเคมีไฟฟ้าของบริษัทสตาร์ตอัปอย่าง ธีออน (Theion) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีและฟาราเดียน (Faradion) ในอังกฤษ รวมถึงไลเทน (Lyten) ในสหรัฐอเมริกา โดยแบตเตอรี่ชนิดใหม่ยังคงมีปัญหาที่ต้องแก้ไข เนื่องจากแบตเตอรี่โซเดียมไอออนยังเก็บพลังงานได้ไม่เพียงพอ ในขณะที่เซลล์แบตเตอรี่ซัลเฟอร์มักจะสึกกร่อนอย่างรวดเร็วและใช้งานได้ไม่นาน
ปัจจุบัน สตาร์ตอัปกว่า 10 แห่งสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้หลายล้านดอลลาร์ รวมถึงเงินทุนจากรัฐบาล เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดใหม่ อนึ่ง เบนซ์มาร์ค มิเนอรัล อินเทลลิเจนท์ (Benchmark Mineral Intelligence หรือ BMI) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาในอังกฤษ ประมาณการว่า ปัจจุบันจีนมีกำลังการกลั่นโคบอลต์คิดเป็นสัดส่วน 75% และกำลังการแปรรูปลิเธียมคิดเป็นสัดส่วน 59% ของโลก