รัฐบาลจีนเกณฑ์บริษัทอาลีบาบาและเทนเซ็นต์ ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีสัญชาติจีน เข้าช่วยเหลือด้านการออกแบบชิปเซมิคอนดักเตอร์ ในขณะที่จีนเสี่ยงเผชิญการคว่ำบาตรมากยิ่งขึ้นจากสหรัฐ โดยเป็นความเคลื่อนไหวที่มีจุดประสงค์ที่จะบั่นทอนอำนาจด้านเทคโนโลยีของจีน
สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์สรายงานว่า รัฐบาลจีนได้จัดตั้งสถาบันวิจัยชิปโอเพ่นซอร์สปักกิ่ง (Beijing Open Source Chip Research Institute) ที่ประกอบด้วยบริษัทและสถาบันวิจัยต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง สถาบันวิชาการจีน เพื่อรังสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญาชิปขึ้นมาใหม่ โดยจีนต้องการลดการพึ่งพาอาร์ม (Arm) บริษัทในเครือของซอฟต์แบงก์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีเทคโนโลยีสนับสนุนชิปเซมิคอนดักเตอร์ส่วนใหญ่ทั่วโลก
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยของจีนนั้นกำลังใช้ริสก์ไฟฟ์ (Risc-V) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมออกแบบชิปแบบโอเพ่นซอร์สที่รังสรรค์ขึ้นในปี 2553 โดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ โดยริสก์ไฟฟ์ได้กลายมาเป็นคู่แข่งของอาร์มตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
จีนสนใจใช้งานริสก์ไฟฟ์มากขึ้น หลังสหรัฐเพิ่มแรงกดดันต่อภาคเทคโนโลยีจีนด้วยการจำกัดการเข้าถึงส่วนประกอบและเครื่องจักรชิปล้ำสมัย โดยสหรัฐวิ่งเต้นให้พันธมิตร ซึ่งรวมถึงเนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่น ตัดบริษัทเทคโนโลยีจีนออกจากห่วงโซ่อุปทานเช่นที่เคยทำกับหัวเว่ยในปี 2562 ทำให้จีนเร่งเตรียมรับมือภาวะติดขัดด้านห่วงโซ่อุปทานชิปเซมิคอนดักเตอร์
สถาบันวิจัยดังกล่าวได้พัฒนา "เซียงซาน (Xiangshan)" ชิปประมวลผลคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงริสก์ไฟ ทดแทน IP ของอาร์ม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดออกแบบชิปของจีน
"เป้าหมายของเราคือพัฒนาชิปริสก์ไฟฟ์ เพื่อทดแทนเทคโนโลยีของอาร์มในผลิตภัณฑ์ล้ำสมัยที่สุดของเรา" วิศวกรระดับอาวุโสของทีเฮด (T-head) ซึ่งเป็นธุรกิจชิปในเครืออาลีบาบากล่าว
"คุณไม่มีทางรู้ว่าสหรัฐจะออกมาตรการรอบใหม่เมื่อไหร่...ขณะนี้การใช้สถาปัตยกรรมของอาร์มนั้นเป็นเรื่องเสี่ยงเกินไป ไม่ต่างจากการเผยจุดอ่อนสำคัญที่สุดให้ศัตรูเห็น" วิศวกรของเทนเซ็นต์ที่ทำงานในโครงการเซียงซานกล่าว
อนึ่ง รหัสโอเพ่นซอร์สนั้นเปิดให้ทุกคนสามารถผลิต ประเมิน ใช้งาน และพัฒนาต่อยอดได้