บริษัทนิวรัลลิงก์ของนายอีลอน มัสก์ ประกาศเมื่อวานนี้ (25 พ.ค.) ว่า ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐให้สามารถเริ่มทดลองฝังชิปคอมพิวเตอร์ในสมองมนุษย์ได้เป็นครั้งแรก ซึ่งนับเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของบริษัทฯ หลังเผชิญอุปสรรคต่าง ๆ ในการขออนุมัติก่อนหน้านี้
นับตั้งแต่ปี 2562 นายมัสก์ได้คาดการณ์มาอย่างน้อย 4 ครั้งแล้วว่า นิวรัลลิงก์จะเริ่มทดลองฝังชิปในสมองมนุษย์เพื่อรักษาอาการต่าง ๆ เช่น อัมพาต, ตาบอด, โรคอ้วน, ออทิสติก, โรคซึมเศร้า, โรคจิตเภท ไปจนถึงการใช้ท่องเว็บและส่งกระแสจิตถึงผู้อื่น โดยนายมัสก์เล็งเห็นว่าทั้งผู้พิการและคนที่มีสุขภาพแข็งแรงสามารถเข้ารับการผ่าตัดฝังเครื่องดังกล่าวลงในสมองได้ทันทีที่ศูนย์ให้บริการในท้องถิ่น
หลายปีที่ผ่านมา นายมัสก์เปิดเผยแผนการใหญ่สำหรับนิวรัลลิงก์ โดยเป็นข่าวใหญ่เมื่อปีที่แล้วว่า เขามั่นใจในความปลอดภัยของอุปกรณ์นิวรัลลิงก์มาก จนยินดีที่จะฝังชิปลงในสมองของบรรดาลูก ๆ ของเขา
แม้ได้รับการอนุมัติแล้ว แต่นิวรัลลิงก์ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ได้เปิดรับคนเข้าร่วมการทดลองทางคลินิก
"นี่เป็นผลมาจากการทำงานอันน่าทึ่งของทีมนิวรัลลิงก์ร่วมกับ FDA เป็นก้าวสำคัญก้าวแรกที่วันหนึ่งจะช่วยให้เทคโนโลยีของเราช่วยเหลือผู้คนจำนวนมากได้" นิวรัลลิงก์โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์เมื่อวานนี้
ด้านพนักงานของนิวรัลลิงก์เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาว่า ก่อนหน้านี้ FDA ปฏิเสธคำขออนุมัติของบริษัทฯ ในช่วงต้นปี 2565 โดย FDA มีข้อกังวลเรื่องแบตเตอรี่ลิเทียมของอุปกรณ์ การนำสายไฟของอุปกรณ์ใส่ลงในสมอง และการถอดเครื่องดังกล่าวออกอย่างปลอดภัยโดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อสมอง