ผลการสำรวจทางออนไลน์เปิดเผยว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นประมาณ 32% เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า พวกเขาเคยใช้งานแชตบอตเอไออย่าง แชตจีพีที (ChatGPT) โดยนักศึกษาหลายคนกล่าวว่า แชตบอตดังกล่าวช่วยเสริมความสามารถในการคิดของพวกเขา
ChatGPT ถูกใช้มากที่สุดในกลุ่มนักศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี และเกษตรศาสตร์รวมทั้งหมด 45.5%, ขณะที่ 33.0% ถูกใช้ในกลุ่มนักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์, สังคมศาสตร์ และครุศาสตร์ ส่วนอีก 21.2% ถูกใช้ในกลุ่มนักศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ และเภสัชกรรมศาสตร์
นักศึกษาชายมีสัดส่วนการใช้ ChatGPT ที่ 44.8% มากกว่านักศึกษาหญิง ซึ่งใช้งาน ChatGPT ราว 27.1%
เมื่อถูกถามว่า ChatGPT ส่งผลในแง่บวกหรือแง่ลบต่อความสามารถในการคิด ก็พบว่านักศึกษา 70.7% ตอบว่า ส่งผลในเชิงบวก มีเพียง 15.4% ที่กล่าวว่า ส่งผลในแง่ลบหรืออาจจะเป็นเช่นนั้น
การสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นในช่วงวันที่ 24 พ.ค.-2 มิ.ย. โดยสำรวจกลุ่มนักศึกษามากกว่า 4,000 คนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยการสำรวจนี้มีขึ้นท่ามกลางกระแสความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นว่า ChatGPT อาจส่งผลเสียต่อทักษะการคิดวิเคราะห์เชิงวิพากษ์และความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา
นายฟูจิโอะ โอโมริ ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโทโฮคุ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการศึกษาและหนึ่งในสมาชิกกลุ่มที่ทำวิจัยดังกล่าวระบุว่า การสำรวจแสดงให้เห็นว่า นักศึกษาโดยทั่วไปจะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่พวกเขาได้รับจาก ChatGPT และนำไปคิดต่อด้วยตัวเอง
แต่ด้วยข้อกังวลที่ว่านักศึกษาสามารถที่จะคัดลอกข้อมูลที่สร้างโดย ChatGPT เอามาใส่ในงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างง่ายดายนั้น นายโอโมริจึงระบุเสริมว่า มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ควรพิจารณาที่จะเลิกประเมินนักศึกษาจากงานที่ให้ทำนอกห้องเรียนเพียงอย่างเดียว และควรสำรวจวิธีการใช้งาน ChatGPT ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย