สำนักข่าวเดอะมิเรอร์รายงานว่า ภารกิจของยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ (Parker Solar Probe: PSP) จากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือนาซ่า (NASA) ประสบความสำเร็จในการเสี่ยงภัยเดินทางผ่านลมสุริยะ (solar wind) เป็นครั้งแรก เพื่อปกป้องไม่ให้ชาวโลกไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้
ทั้งนี้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับผลกระทบจากพายุสุริยะ ซึ่งมักอ้างอิงถึง "วันสิ้นโลกสำหรับอินเทอร์เน็ต" (Internet Apocalypse) โดยอาจเกิดขึ้นภายในทศวรรษหน้า
PSP ออกเดินทางเมื่อ 5 ปีก่อน โดยสามารถเดินทางเข้าใกล้พื้นผิวของดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นจุดที่สร้างลมสุริยะ โดยลมสุริยะประกอบด้วยกระแสอนุภาคที่มีประจุที่มาจากบรรยากาศด้านนอกสุดของดวงอาทิตย์ ซึ่งรู้จักกันในชื่อโคโรนา (Corona)
แม้ต้องเผชิญความร้อนและรังสีที่รุนแรง แต่ PSP ยังคงพยายามรวบรวมข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของดวงอาทิตย์
ศาสตราจารย์สจ๊วต เบล หัวหน้านักเขียนหัวข้อการศึกษาเรื่องดวงอาทิตย์และมีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในสหรัฐ อธิบายถึงความสำคัญในการเข้าใจเกี่ยวกับลมสุริยะ
"ลมจะขนส่งข้อมูลจำนวนมากจากดวงอาทิตย์สู่ผืนโลก ดังนั้นการเข้าใจกลไกเบื้องหลังลมของดวงอาทิตย์จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโลก" ศาสตราจารย์เบลกล่าว
"นั่นจะกระทบต่อความสามารถในการเข้าใจเกี่ยวกับวิธีที่ดวงอาทิตย์ปล่อยพลังงานและขับเคลื่อนพายุแม่เหล็กโลก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อเครือข่ายการติดต่อสื่อสารของเรา"
"เหตุการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้หลายเดือน หรือแม้กระทั่งหลายปี การใช้ดาวเทียมและสายไฟนั้นไร้ประโยชน์"
PST ที่ติดตั้งเครื่องมือขั้นสูง ได้ตรวจจับลมสุริยะพร้อมรายละเอียดที่เหนือชั้น ซึ่งจะค้นพบข้อมูลสำคัญที่สูญหายไปในขณะที่ลมเคลื่อนตัวออกจากโคโรนาในรูปของโฟตอนและอิเล็กตรอน ซึ่งจะช่วยระบุปรากฎการณ์ที่รู้จักกันในชื่อ "Supergranulation Flows" ภายในหลุมโคโรนา ซึ่งเป็นจุดที่เกิดสนามแม่เหล็ก