สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างอิงผลการถอดแยกชิ้นส่วนแล็ปท็อปว่า แล็ปท็อปรุ่นใหม่ล่าสุดของหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ (Huawei Technologies) นั้นแท้จริงแล้วใช้ชิปที่ผลิตจากบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง โค (TSMC) ซึ่งย้อนแย้งกับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าแล็ปท็อปรุ่นดังกล่าวนั้นใช้ชิปที่ผลิตโดยบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป (Semiconductor Manufacturing International Corp - SMIC) ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านการผลิตชิปของหัวเว่ยในจีน
รายงานการถอดแยกชิ้นส่วนโดยเทคอินไซต์ (TechInsights) บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมชิป ระบุว่า แล็ปท็อปรุ่น Qingyun L540 ใช้ชิปขนาด 5 นาโนเมตรที่ผลิตโดยบริษัท TSMC เมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลสหรัฐดำเนินมาตรการคว่ำบาตรหัวเว่ยเพื่อกีดกันไม่ให้เข้าถึงผู้ผลิตชิปอย่าง TSMC โดยข้อมูลดังกล่าวสวนทางกับการคาดการณ์ว่า SMIC ประสบความสำเร็จอย่างก้าวกระโดดในด้านเทคนิคการผลิตชิป
ในการถอดแยกชิ้นส่วนล่าสุด เทคอินไซต์พบชิป Kirin 9006C ที่ผลิตโดยใช้วิธีแบบเดียวกับชิป 5 นาโนเมตรของบริษัท TSMC ซึ่งประกอบและบรรจุในช่วงไตรมาส 3/2563
ก่อนหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่าบริษัท SMIC ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการคว่ำบาตรของสหรัฐได้ ซึ่งอาจถือเป็นความสำเร็จทางเทคโนโลยีครั้งที่ 2 ของหัวเว่ยภายในระยะเวลาอันสั้น เมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมา หัวเว่ยได้สร้างความฮือฮาอย่างมากทั้งในสหรัฐและจีน หลังเปิดตัวสมาร์ตโฟนรุ่น Mate 60 Pro ที่ใช้ชิป 7 นาโนเมตรซึ่งพัฒนาขึ้นโดยบริษัท SMIC ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชิปของสมาร์ตโฟนรุ่นดังกล่าวมีความล้ำสมัย และยังเป็นความสำเร็จที่สามารถเอาชนะมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ โดยข่าวนี้ทำให้วงการเทคโนโลยีจีนต่างเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงกันในสหรัฐเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการคว่ำบาตร
ความก้าวหน้าของสมาร์ตโฟนรุ่น Mate 60 Pro ในปี 2566 ตอกย้ำจุดยืนของหัวเว่ยในฐานะผู้นำของจีนที่ผลักดันการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีของตะวันตกและสร้างทางเลือกภายในประเทศ ส่งผลให้ในไตรมาส 4/2566 ผู้บริโภคชาวจีนแห่ซื้อสมาร์ตโฟนรุ่นดังกล่าวกันอย่างล้นหลาม จนรายได้ของบริษัททะลุ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อ iPhone ของแอปเปิ้ล อิงค์ ที่ครอบงำส่วนแบ่งตลาดสมาร์ตโฟน