ในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมานั้น คลิปวิดีโอปลอมของจอมพลซูฮาร์โต อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซียผู้ล่วงลับ ซึ่งกล่าวสนับสนุนพรรคการเมืองเก่าของเขาสมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้นำ ได้กลายเป็นคลิปไวรัลบนโลกออนไลน์
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นคลิปดีปเฟค (Deepfake) ที่สร้างขึ้นโดยเอไอ (AI) โดยเลียนแบบใบหน้าและเสียงของจอมพลซูฮาร์โต คลิปนี้ถูกโพสต์ลงบนเอ็กซ์ (X) และมียอดผู้ชมมากถึง 4.7 ล้านครั้ง
ในขณะที่ปากีสถาน มีการทำคลิปปลอมที่เลียนแบบนายอิมราน ข่าน อดีตนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งนายข่านปลอมในคลิปได้ประกาศว่าพรรคการเมืองของเขาคว่ำบาตรการเลือกตั้งดังกล่าว
นอกจากนี้แล้ว ในสหรัฐ ประชาชนในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ก็ได้พบเห็นคลิป Deepfake ของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่เรียกร้องให้ประชาชนไม่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งไพรมารี ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2567
เทคโนโลยี Deepfake ถูกนำมาใช้ในบริบททางการเมือง และใช้ปลอมแปลงนักการเมืองอย่างแพร่หลายจนเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2567 ซึ่งเป็นปีที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นปีที่มีการเลือกตั้งใหญ่ในหลาย ๆ แห่ง เช่น ไต้หวัน ปากีสถาน อินโดนีเซีย รัสเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และสหรัฐ
Deepfake กลายเป็นเป็นประเด็นที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้คนมากกว่า 4 พันล้านคน ในอย่างน้อย 60 ประเทศทั่วโลก เตรียมเข้าคูหาเพื่อลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำประเทศของพวกเขา
รายงานของซัมซับ (Sumbub) แพลตฟอร์มด้านความปลอดภัยทางออนไลน์ที่เผยแพร่เมื่อในเดือนพ.ย. 2566 ระบุว่า จำนวนคลิปวิดีโอ Deepfake ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 10 เท่า ในช่วงปี 2565 ถึง 2566 โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) มีการผลิต Deepfake เพิ่มขึ้นถึง 1,530% ในช่วงเวลาดังกล่าว
การฉ้อโกงข้อมูลประจำตัวก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญบนแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ รวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลและการโฆษณาดิจิทัล โดยเพิ่มขึ้น 274% ระหว่างปี 2564 ถึง 2566 ซึ่งการฉ้อโกงข้อมูลตัวตนที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่บริการระดับมืออาชีพ การดูแลสุขภาพ การขนส่ง ไปจนถึงวิดีโอเกม
นายไซมอน เชสเตอร์แมน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการกำกับดูแลเอไอจากเอไอ สิงคโปร์ (AI Singapore) กล่าวว่าเอเชียยังไม่พร้อมมากเพียงพอที่จะรับมือกับปัญหา Deepfake ในกระบวนการเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากยังขาดแคลนกฎระเบียบต่าง ๆ ความสามารถทางเทคโนโลยี รวมไปถึงการศึกษา
รายงานภัยคุกคามทั่วโลกปี 2567 ของคราวด์สไตรก์ (Crowdstrike) บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เตือนว่าการเลือกตั้งจำนวนมากที่กำหนดไว้สำหรับปีนี้ บรรดาผู้ไม่ประสงค์ดีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐจากประเทศต่าง ๆ เช่น จีน รัสเซีย และอิหร่าน มีแนวโน้มสูงที่จะฉวยโอกาสดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือการบิดเบือนข้อมูลเพื่อแทรกแซงการเลือกตั้ง
"การแทรกแซงที่สำคัญที่สุดจะเกิดขึ้นหากมหาอำนาจระดับโลกตัดสินใจขัดขวางการเลือกตั้งของประเทศ โดยการกระทำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบในวงกว้างมากกว่าการดำเนินการของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่อาจสร้างผลลัพธ์ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น" นายเชสเตอร์แมน กล่าว