อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มาเลเซียเนื้อหอม อานิสงส์ข้อพิพาทสหรัฐ-จีน

ข่าวเทคโนโลยี Thursday April 4, 2024 09:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเซมิคอนดักเตอร์มองว่า มาเลเซียกำลังผงาดขึ้นเป็นจุดหมายที่ดึงดูดการลงทุนในภาคเซมิคอนดักเตอร์ได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมหาอำนาจอย่างสหรัฐและจีนมีข้อพิพาทในเรื่องชิป จนส่งผลให้หลาย ๆ บริษัทต้องกระจายความเสี่ยงในการดำเนินงาน ด้วยการตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศอื่นแทน

เคนด์ดริก ชาน หัวหน้าโปรเจกต์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทางดิจิทัลจาก LSE IDEAS ซึ่งเป็นองค์กรมันสมองด้านนโยบายต่างประเทศ ในสังกัดวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอนกล่าวว่า "มาเลเซียมีโครงสร้างพื้นฐานมั่นคง และสั่งสมประสบการณ์มานานนับ 5 ทศวรรษในกระบวนการ 'ส่วนหลัง' (back end) ของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประกอบ ทดสอบ และบรรจุภัณฑ์"

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบสำคัญที่พบได้ในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟนไปจนถึงรถยนต์ โดยเป็นประเด็นพิพาทร้อนแรงในสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้มีบริษัทชิปจากสหรัฐประกาศการลงทุนหรือไม่ก็เปิดศูนย์การดำเนินงานใหม่ในมาเลเซียไปบ้างแล้ว โดยอินเทล (Intel) เคยประกาศไว้ตั้งแต่เมื่อเดือนธ.ค. 2564 ว่าจะลงทุนกว่า 7 พันล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโรงงานบรรจุและทดสอบชิปในมาเลเซีย และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปีนี้

ขณะเดียวกัน โกลบอลฟาวน์ดรีส์ (GlobalFoundries) บริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่อีกรายในสหรัฐ ได้เปิดศูนย์การดำเนินงานในปีนังเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนการดำเนินการผลิตทั่วโลก ควบคู่ไปกับโรงงานในสิงคโปร์ สหรัฐ และยุโรป

ด้านบริษัทอินฟินีออน (Infineon) ผู้ผลิตชิปจากเยอรมนี ได้ประกาศเมื่อเดือนก.ค. 2565 ว่า ทางบริษัทมีแผนสร้างศูนย์ผลิตชิปวงจรรวม (wafer fabrication) ที่เมืองคูลิมในรัฐเคดาห์ของมาเลเซีย ส่วนนิวเวย์ส (Neways) ซัพพลายเออร์หลักของบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ชิปจากเนเธอร์แลนด์อย่างอาเอสเอ็มเอล (ASML) ได้ประกาศเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่าจะสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ในเมืองกลัง

หยิงลัน ตัน หุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ก่อตั้งอินซิกเนีย เวนเจอร์ส พาร์ตเนอร์ส (Insignia Ventures Partners) กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า "มาเลเซียมีข้อได้เปรียบมาโดยตลอดในเรื่องแรงงานที่มีทักษะในการบรรจุ ประกอบ และทดสอบ แถมยังมีต้นทุนในการดำเนินงานที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับที่อื่น ทำให้มาเลเซียสามารถส่งออกโดยมีศักยภาพทางการแข่งขันที่ดีกว่า" นอกจากนี้ ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียยังทำให้มาเลเซียดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ด้วย

ทั้งนี้ หน่วยงานพัฒนาการลงทุนแห่งมาเลเซียเปิดเผยว่า มาเลเซียมีส่วนแบ่งในตลาดบริการบรรจุ ประกอบ และทดสอบชิป อยู่ประมาณ 13% ของทั้งโลก โดยแม้ปี 2566 ทั่วโลกจะมีความต้องการชิปค่อนข้างซบเซา แต่มาเลเซียก็ส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวมได้เพิ่มขึ้น 0.03% แตะ 8.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกเหนือจากชาติตะวันตกอย่างสหรัฐแล้ว ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มาเลเซียเปิดเผยว่า บริษัทชิปจีนหลายแห่งก็เลือกมาเลเซียเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตชิปด้วยเช่นกัน ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซียเปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า มาเลเซียมีแผนมุ่งเน้นการผลิตชิปในส่วนหน้า (front end) มากขึ้น โดยการผลิตส่วนหน้าหมายถึงการผลิตชิปวงจรรวมและกระบวนการโฟโตลิโทกราฟี (photolithography) จากเดิมที่เน้นการผลิตในส่วนหลังอย่างการบรรจุและประกอบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ