ทั้งนี้ ซิสโก้ระบุว่า ไฮเปอร์ชิลด์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในปกป้องแอปพลิเคชัน อุปกรณ์ และข้อมูลทั่วทั้งศูนย์ข้อมูลสาธารณะและส่วนตัว รวมถึงระบบคลาวด์ และสถานที่ตั้งทางกายภาพ
ทั้งนี้ ไฮเปอร์ชิลด์เปิดตัวขึ้นหลังการทุ่มเม็ดเงิน 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อซื้อกิจการบริษัทสปลังค์ (Splunk) เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งสปลังค์เป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่แข่งขันบริษัทอื่น ๆ อย่างดาตาด็อก (DataDog), อีลาสติก (Elastic), โซลาร์วินด์ส (SolarWinds) และไดนาเทรส (Dynatrace) นอกจากนี้ การเปิดตัวในครั้งนี้ยังถือเป็นการต่อยอดความร่วมมือของซิสโก้กับอินวิเดีย (Nvidia) ในด้านการจัดการและรักษาความปลอดภัยโครงสร้างพื้นฐาน AI อีกด้วย
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า นี่เป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ของซิสโก้ในการพิสูจน์ตัวเองว่า ซิสโก้เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เอาจริงเอาจังด้าน AI ในขณะที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ กูเกิล และอเมซอนต่างทุ่มเม็ดเงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์
นายจีตู พาเทล รองประธานบริหารและผู้จัดการทั่วไปฝ่ายความปลอดภัยและการทำงานร่วมกันของซิสโก้กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีในสัปดาห์นี้ว่า "นี่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ แต่เป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ เป็นรุ่นแรกของสิ่งใหม่"
ทั้งนี้ แบรนด์อื่น ๆ ต่างมีความเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอนเตอร์ไพรส์ (HPE) ได้ประกาศเปิดตัวการผสมผสานโมเดล AI ขนาดใหญ่เข้ากับแผนกเครือข่ายของอารูบา (Aruba) ขณะที่ วีเอ็มแวร์ (VMware) ของบรอดคอม (Broadcom) ได้เปิดตัวเครื่องมือที่ช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ใช้ผลิตภัณฑ์ปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้าง (Generative AI) ที่ปลอดภัยต่อความเป็นส่วนตัว