อินเทล (Intel) ได้สร้างระบบนิวโรมอร์ฟิก (neuromorphic) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อสนับสนุนการวิจัยปัญญาประดิษฐ์โดยได้รับแรงบันดาลใจจากสมองมนุษย์
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ระบบนิวโรมอร์ฟิกดังกล่าวมีชื่อรหัสว่าฮาลา พอยต์ (Hala Point) ซึ่งเบื้องต้นมีการนำไปลองใช้แล้วที่ห้องปฏิบัติการแซนเดียในรัฐนิวเม็กซิโกของสหรัฐ โดยระบบที่ว่านี้เลียนแบบสมองของมนุษย์ในการประมวลผลข้อมูล
นักวิจัยที่ห้องปฏิบัติการแซนเดียวางแผนที่จะใช้ฮาลา พอยต์ ในการวิจัยการประมวลผลระดับสมองขั้นสูง โดยเน้นที่การแก้ปัญหาด้านการประมวลผลทางวิทยาศาสตร์ในด้านฟิสิกส์ของอุปกรณ์ สถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และสารสนเทศศาสตร์
ไมค์ เดวีส์ (Mike Davies) ผู้อำนวยการประจำห้องปฏิบัติการประมวลผลนิวโรมอร์ฟิก ของอินเทล แล็บส์ (Intel Labs) กล่าวว่า "ต้นทุนการประมวลผลของโมเดลเอไอในปัจจุบันได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่ยั่งยืน อุตสาหกรรมนี้ต้องการแนวทางใหม่ที่ปรับขนาดได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้พัฒนาฮาลา พอยต์ ซึ่งนำประสิทธิภาพการเรียนรู้เชิงลึกมาผสมผสานเข้ากับการเรียนรู้ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสมองและการเพิ่มประสิทธิภาพ" และเพิ่มเติมว่า "เราหวังว่าการศึกษาฮาลา พอยต์ จะเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการปรับตัวของเทคโนโลยีเอไอขนาดใหญ่"