ขบวนการมิจฉาชีพใช้ดีปเฟก (Deepfake) หลอกเอาเงินบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกแล้วหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ได้ออกโรงเตือนว่าสถานการณ์อาจจะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ เนื่องจากแก๊งอาชญากรใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้าง (Generative AI) ในการฉ้อโกง
ทั้งนี้ Deepfake มาจากคำว่า Deep Learning + Fake หมายถึงการให้คอมพิวเตอร์ใช้ระบบ AI และ Machine Learning เรียนรู้อัตลักษณ์อย่างลึกซึ้งของบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย เช่น เสียง ใบหน้า สีผิว รูปร่าง ท่าทางการเคลื่อนไหวของริมฝีปาก และร่างกายส่วนอื่น โดยให้มีการประมวลผลออกมาตามคำสั่งที่ถูกป้อนเข้าไป ทำให้ระบบสามารถสร้างภาพเคลื่อนไหวของบุคคลดังกล่าวอย่างสมจริง จนแทบไม่สามารถแยกได้ว่าภาพในคลิปวิดีโอเป็น AI หรือเป็นมนุษย์จริง ๆ หรือพูดง่าย ๆ คือDeepfake คือการสร้างคลิปวิดีโอปลอมผ่านการตัดต่อ โดยคนในคลิปไม่ได้พูดหรือทำจริงอย่างที่เห็นในคลิป
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีได้ยกตัวอย่างคดีใหญ่ที่สุดคดีหนึ่งในปีนี้ โดยเป็นคดีที่พนักงานด้านการเงินรายหนึ่งในฮ่องกงถูกหลอกให้โอนเงินกว่า 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับมิจฉาชีพที่ใช้เทคโนโลยีดีปเฟกปลอมตัวเป็นเพื่อนร่วมงานในวิดีโอคอล ซึ่งทางการได้เปิดเผยเรื่องนี้ต่อสื่อมวลชนท้องถิ่นในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Arup บริษัทวิศวกรรมจากอังกฤษได้ยืนยันกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ทางบริษัทเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้เนื่องจากคดีอยู่ระหว่างการสอบสวน
นายเดวิด แฟร์แมน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลและความปลอดภัยบริษัทเน็ตสโคป (Netskope) ซึ่งเป็นบริษัทด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ระบุว่า ภัยคุกคามลักษณะดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากกระแสนิยมของแชตจีพีที (Chat GPT) ของโอเพนเอไอ (Open AI) ที่เปิดตัวในปี 2565 ซึ่งทำให้เทคโนโลยี Generative AI แพร่หลายอย่างรวดเร็ว
"การที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้อย่างง่ายดายได้ลดอุปสรรคในการต้มตุ๋นให้กับอาชญากรไซเบอร์ โดยอาชญากรเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีชุดทักษะเทคโนโลยีพิเศษอีกต่อไป" นายแฟร์แมนระบุ
นอกจากนี้ นายแฟร์แมนระบุว่า ปริมาณและความซับซ้อนของการต้มตุ๋นได้ขยายวงกว้างออกไปพร้อมกับที่เทคโนโลยี AI พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง