ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ถอนตัวจากตำแหน่งผู้สังเกตการณ์ในบอร์ดบริหารของโอเพนเอไอ (OpenAI) โดยไมโครซอฟท์ระบุว่า ตำแหน่งดังกล่าวไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป หลังจากที่โอเพนเอไอได้ปรับปรุงโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา
ด้านหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์สรายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า แอปเปิ้ล (Apple) ซึ่งเพิ่งประกาศนำแชตจีพีที (ChatGPT) แชตบอตของโอเพนเอไอ มาลงในอุปกรณ์ของตนเมื่อเดือนที่แล้ว ก็จะไม่เข้ารับตำแหน่งผู้สังเกตการณ์ในบอร์ดบริหารของโอเพนเอไอด้วยเช่นกัน แม้ก่อนหน้านี้เป็นที่คาดกันว่าแอปเปิ้ลจะรับตำแหน่งดังกล่าว
โฆษกของโอเพนเอไอกล่าวว่า บริษัทฯ จะสร้างรูปแบบการมีส่วนร่วมแบบใหม่ โดยจัดการประชุมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นประจำ ซึ่งรวมถึงพันธมิตรเชิงกลยุทธ์อย่างไมโครซอฟท์และแอปเปิ้ล ตลอดจนผู้ลงทุนอย่างบริษัทไทรฟ์ แคปิตอล (Thrive Capital) และโคห์สลา เวนเจอร์ส (Khosla Ventures)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ย้อนกลับไปในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ไมโครซอฟท์ได้เข้ารับตำแหน่งผู้สังเกตการณ์แบบไม่มีสิทธิออกเสียงในบอร์ดบริหารของโอเพนเอไอ หลังจากที่นายแซม อัลท์แมน ซีอีโอของโอเพนเอไอ กลับมารับตำแหน่งผู้นำบริษัทอีกครั้ง
การเป็นผู้สังเกตการณ์ทำให้ไมโครซอฟท์สามารถเข้าร่วมการประชุมบอร์ดของโอเพนเอไอและเข้าถึงข้อมูลลับได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงการเลือกหรือแต่งตั้งกรรมการ
อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งผู้สังเกตการณ์และเงินลงทุนมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ของไมโครซอฟท์ในโอเพนเอไอ ได้สร้างความไม่สบายใจให้กับหน่วยงานเฝ้าระวังการผูกขาดในยุโรป (EU), สหราชอาณาจักร และสหรัฐ ว่าไมโครซอฟท์มีอำนาจควบคุมโอเพนเอไอมากน้อยแค่ไหน
ไมโครซอฟท์ชี้แจงว่า สาเหตุที่ตัดสินใจสละตำแหน่งผู้สังเกตการณ์ในครั้งนี้ เป็นเพราะนับตั้งแต่ที่นายอัลท์แมนกลับมาบริหารบริษัทอีกครั้ง โอเพนเอไอก็มีพันธมิตรรายใหม่ ๆ สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และมีฐานลูกค้าที่เติบโตขึ้น
"ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญจากบอร์ดบริหารชุดใหม่ และเรามั่นใจในทิศทางของบริษัทฯ ด้วยเหตุนี้ เราจึงเชื่อว่าบทบาทที่จำกัดของเราในฐานะผู้สังเกตการณ์ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป" ไมโครซอฟท์ระบุในจดหมายลงวันที่ 9 ก.ค.ถึงโอเพนเอไอ
เมื่อเดือนที่แล้ว หน่วยงานกำกับดูแลการต่อต้านการผูกขาดของ EU กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์กับโอเพนเอไอจะไม่อยู่ภายใต้กฎการควบรวมกิจการของ EU เนื่องจากไมโครซอฟท์ไม่ได้ควบคุมโอเพนเอไอ แต่ทางหน่วยงานจะขอความเห็นจากบุคคลที่สามเกี่ยวกับข้อกำหนดเรื่องการให้สิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในข้อตกลงระหว่างทั้งสองบริษัท
ในทางตรงกันข้าม หน่วยงานเฝ้าระวังการผูกขาดของสหราชอาณาจักรและสหรัฐยังคงมีข้อกังวลและตั้งคำถามถึงอิทธิพลของไมโครซอฟท์ที่มีต่อโอเพนเอไอและความเป็นอิสระของโอเพนเอไอ
ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์และโอเพนเอไอกำลังแข่งขันกันอย่างหนักเพื่อขายเทคโนโลยี AI ให้กับลูกค้าองค์กร โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้และแสดงให้หน่วยงานกำกับดูแลเห็นว่าทั้งสองบริษัทเป็นอิสระจากกัน เพื่อแก้ไขข้อกังวลด้านการผูกขาด
นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังขยายการให้บริการ AI บนแพลตฟอร์ม Azure และได้ว่าจ้างซีอีโอของอินเฟลกชัน (Inflection) ให้มาเป็นหัวหน้าฝ่าย AI สำหรับผู้บริโภคอีกด้วย ซึ่งหลายฝ่ายตีความว่าเป็นความพยายามของไมโครซอฟท์ในการกระจายความเสี่ยงนอกเหนือจากโอเพนเอไอ