คณะกรรมการสภาผู้แทนราษฎรด้านความมั่นคงสหรัฐ ได้ขอให้นายจอร์จ เคิร์ตซ์ ซีอีโอของบริษัทคราวด์สไตรค์ (CrowdStrike) ขึ้นมาให้ข้อมูลชี้แจงเกี่ยวกับการอัปเดตซอฟต์แวร์ที่มีข้อบกพร่อง จนส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ระบบไซเบอร์ล่มทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ทางคณะกรรมการฯ ได้เรียกตัวนายเคิร์ตซ์ และให้รีบกำหนดเวลานัดหมายโดยเร็ว
นายมาร์ก กรีน ประธานคณะกรรมการฯ และนายแอนดรูว์ การ์บาริโน ประธานคณะอนุกรรมการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และการป้องกันโครงสร้างพื้นฐาน ได้เขียนจดหมายถึงนายเคิร์ตซ์เมื่อวานนี้ (22 ก.ค.) ว่า "ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งวัน เราเห็นผลกระทบร้ายแรงมากมายต่อภาคส่วนที่สำคัญระดับโลก เช่น การบิน การดูแลสุขภาพ การธนาคาร สื่อ และบริการฉุกเฉิน" และเพิ่มเติมว่า "ชาวอเมริกันจะยังคงรู้สึกถึงผลลัพธ์ที่ตามมาจากเหตุการณ์นี้ และสมควรได้รับข้อมูลโดยละเอียดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร รวมถึงขั้นตอนที่ทางบริษัทฯ กำลังดำเนินการอยู่เพื่อแก้ไขปัญหา"
ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา การอัปเดตซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยของคราวด์สไตรค์ที่มีปัญหา ทำให้คอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows ของไมโครซอฟท์ (Microsoft) ล่ม สร้างความปั่นป่วนให้กับบริการอินเทอร์เน็ตทั่วโลก กระทบอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งสายการบิน ธนาคาร และบริการด้านสุขภาพ
ทางด้านไมโครซอฟท์เผยเมื่อวันเสาร์ (20 ก.ค.) ว่า มีอุปกรณ์ที่ใช้ Windows ได้รับผลกระทบราว 8.5 ล้านเครื่อง หรือคิดเป็นไม่ถึง 1% ของอุปกรณ์ Windows ทั้งหมด
แม้บริการต่าง ๆ ทั่วโลกจะทยอยกลับมาใช้งานได้ในช่วงค่ำของวันศุกร์ แต่บริษัทหลายแห่งยังคงต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานที่ค้างสะสม ความล่าช้า และแม้กระทั่งเที่ยวบินที่ถูกยกเลิก เหตุการณ์นี้จึงทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีกได้อย่างไร และซอฟต์แวร์ที่สำคัญเช่นนี้ควรจะอยู่ในมือของบริษัทเพียงไม่กี่รายต่อไปหรือไม่