สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในวันนี้ (31 ก.ค.) โดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมประกาศกฎใหม่ในเดือนหน้า เพื่อเพิ่มอำนาจสหรัฐในการสกัดกั้นการส่งออกอุปกรณ์ผลิตชิปจากบางประเทศไปยังบริษัทผลิตชิปของจีน
แต่แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนามระบุว่า ประเทศพันธมิตรที่ส่งออกอุปกรณ์ผลิตชิปไปยังจีน เช่น ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้ จะได้รับการยกเว้น ทำให้ผลกระทบของกฎนี้ไม่รุนแรงนัก
ด้วยเหตุนี้ บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ทำชิปรายใหญ่อย่าง ASML และ Tokyo Electron จึงไม่ได้รับผลกระทบ โดยข่าวดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้น ASML ทะยานขึ้นถึง 7.2% ในการซื้อขายช่วงเช้าที่ตลาดหุ้นอัมสเตอร์ดัม ขณะที่หุ้น Tokyo Electron ก็ปิดตลาดพุ่งขึ้น 7.4% นอกจากนี้ บริษัทญี่ปุ่นรายอื่น ๆ ที่ผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับชิปก็ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งเช่นกัน โดย Screen Holdings เพิ่มขึ้นถึง 9% และ Advantest ก็ปรับตัวขึ้น 4.5%
ตามที่แหล่งข่าวรายหนึ่งเปิดเผย กฎใหม่นี้เป็นการขยายขอบเขตของมาตรการห้ามบริษัทต่างชาติขายสินค้าที่ผลิตโดยเทคโนโลยีของสหรัฐ (Foreign Direct Product Rule - FDPR) ซึ่งจะส่งผลให้โรงงานผลิตชิปของจีนประมาณ 6 แห่งที่เป็นศูนย์กลางการผลิตชิปสุดล้ำของประเทศ ถูกห้ามรับอุปกรณ์ผลิตชิปจากหลายประเทศ
ประเทศหรือดินแดนที่การส่งออกอาจได้รับผลกระทบประกอบด้วยอิสราเอล ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์ยังไม่สามารถระบุได้ว่าโรงงานผลิตชิปของจีนแห่งใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า มาตรการควบคุมการส่งออกชุดล่าสุดนี้จะลดเกณฑ์ปริมาณส่วนประกอบจากสหรัฐที่ใช้กำหนดว่าสินค้าต่างประเทศจะต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมของสหรัฐหรือไม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการอุดช่องโหว่ในกฎ FDPR ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์อาจถูกจัดให้อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการส่งออกเพียงเพราะมีชิปที่ใช้เทคโนโลยีของสหรัฐติดตั้งอยู่
นอกจากนี้ สหรัฐยังเตรียมเพิ่มบริษัทจีนราว 120 แห่งในบัญชีดำทางการค้า ซึ่งรวมถึงโรงงานผลิตชิปประมาณ 6 แห่ง บริษัทผู้ผลิตเครื่องมือ บริษัทซอฟต์แวร์ออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ (EDA) และบริษัทที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า กฎใหม่นี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการร่างและอาจมีการปรับเปลี่ยนได้ แต่เป้าหมายคือจะประกาศใช้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งภายในเดือนหน้า
นอกเหนือจากญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้แล้ว ร่างกฎนี้ยังยกเว้นให้กับอีกกว่า 30 ประเทศ ซึ่งการยกเว้นที่วางแผนไว้นี้ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐต้องใช้ความละมุนละม่อมในการบังคับใช้มาตรการจำกัด
"มาตรการควบคุมการส่งออกจะได้ผลก็ต่อเมื่อหลายประเทศให้ความร่วมมือ เราทำงานร่วมกับประเทศพันธมิตรอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงแห่งชาติร่วมกัน" เจ้าหน้าที่สหรัฐผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าว