เหล่านักพากย์เสียงและนักแสดงโมชันแคปเจอร์ในวงการวิดีโอเกมนัดหยุดงานประท้วงหน้าบริษัท วอร์เนอร์บราเธอร์ส เกมส์ (Warner Bros. Games) เป็นครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (1 ส.ค.) โดยอ้างว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังคุกคามอาชีพ
"พวกเขาเอาเสียงของเราไปฝึกโมเดล AI โดยที่เราไม่ได้ให้ความยินยอม แถมยังไม่จ่ายค่าตอบแทนด้วย" ลีแอนนา อัลบานีส นักพากย์เสียงจากเกม "Persona 5 Tactica" และหัวหน้ากลุ่มผู้ประท้วง กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ขณะยืนประท้วงอยู่หน้าบริษัท
การนัดหยุดงานเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหลังจากการเจรจาต่อรองสัญญาจ้างงานล้มเหลว โดยมีประเด็นหลักอยู่ที่การเรียกร้องให้มีมาตรการคุ้มครองแรงงานจากผลกระทบของ AI
เหตุการณ์นี้ถือเป็นการประท้วงครั้งล่าสุดในวงการฮอลลีวูด โดยเกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อปีที่แล้ว กลุ่มนักเขียนบทและนักแสดงที่เป็นสมาชิกสหภาพได้ออกมาเดินขบวนประท้วงกันอย่างคับคั่งในประเด็น AI เช่นกัน
เจฟฟ์ ลีช นักแสดงชาวอังกฤษผู้ให้เสียงพากย์ในเกม "Call of Duty: Modern Warfare & Warzone" กล่าวว่า "ผมคิดว่าเมื่อคุณเอาองค์ประกอบที่เป็นมนุษย์ออกไปจากโปรเจกต์แบบอินเทอร์แอคทีฟ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอเกม รายการทีวี แอนิเมชัน หรือภาพยนตร์ แล้วเอา AI มาใส่แทนที่ เราสัมผัสได้นะ ในฐานะเกมเมอร์คนหนึ่ง และเป็นคนที่เสพคอนเทนต์พวกนี้อยู่แล้ว"
การตัดสินใจผละงานในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการเจรจากับบริษัทวิดีโอเกมยักษ์ใหญ่หลายแห่งมาเป็นเวลาหลายเดือน เช่น แอคทิวิชัน โปรดักชันส์ (Activision Productions), อิเล็กทรอนิก อาร์ตส์ (Electronic Arts), เอปิค เกมส์ (Epic Games), เทค-ทู อินเทอร์แอคทีฟ (Take-Two Interactive), ดิสนีย์ แคแรคเตอร์ วอยเซส (Disney Character Voices) และดับเบิลยูบี เกมส์ (WB Games) ของวอร์เนอร์บราเธอร์ส ดิสคัฟเวอรี (Warner Bros Discovery)
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า บริษัทเกมยักษ์ใหญ่อย่างอิเล็กทรอนิก อาร์ตส์ และเทค-ทู น่าจะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการประท้วงครั้งนี้มากนัก เนื่องจากทั้งสองบริษัทมีสตูดิโอภายในของตัวเอง อีกทั้งวงจรการพัฒนาเกมก็ใช้เวลานาน
การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักแสดงในครั้งนี้ยังเป็นการส่งเสียงเรียกร้องไปยังคนในวงการฮอลลีวูด ให้ร่วมกันผลักดันกฎหมายคุ้มครองแรงงานจากความเสี่ยงของ AI อีกด้วย
"ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายระดับประเทศที่คุ้มครองพวกเรา ดังนั้น NO FAKES Act จึงเป็นร่างกฎหมายที่มีเป้าหมายเพื่อปกป้องตัวตน ปกป้องความเป็นบุคคลของเราในระดับประเทศ ไม่ใช่แค่ในระดับรัฐ" อัลบานีสกล่าว
ทั้งนี้ NO FAKES Act เป็นร่างกฎหมายที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองพรรคในสภาคองเกรส โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำให้การจำลองรูปลักษณ์และเสียงของบุคคลใดโดยใช้ AI โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากสหภาพนักแสดง SAG-AFTRA, สมาคมภาพยนตร์, สถาบันบันทึกเสียง และบริษัทดิสนีย์
ไม่ใช่แค่คนในวงการเกมเท่านั้นที่ออกมาแสดงความกังวล แต่คนดังในแวดวงอื่น ๆ เช่น เทย์เลอร์ สวิฟต์ ศิลปินเจ้าของรางวัลแกรมมี อวอร์ด รวมถึงคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า "ดีปเฟค" (Deepfake) ที่สร้างขึ้นจาก AI นั้น เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข
"ทุกคนในประเทศนี้ต้องได้รับการปกป้องจากการใช้ AI ในทางที่ผิด" ดันแคน แครบทรี-ไอร์แลนด์ ผู้อำนวยการบริหารแห่งชาติและหัวหน้าฝ่ายเจรจาต่อรองของ SAG-AFTRA กล่าวกับรอยเตอร์ในระหว่างการประท้วง