บริษัทวิจัยสินเชื่อ เตโกกุ ดาต้าแบงก์ (Teikoku Databank) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นไม่ถึง 20% ที่นำปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้าง (Generative AI หรือ Gen AI) มาใช้ในการดำเนินงานของบริษัท โดยสาเหตุหลักมาจากความกังวลว่า บริษัทยังไม่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีนี้เพียงพอ
ข้อมูลระบุด้วยว่า ความกังวลเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของ Generative AI เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งลังเลที่จะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้งาน แม้ปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้างเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในฐานะเครื่องมือที่ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพทางธุรกิจก็ตาม
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า จากการสำรวจบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม 4,705 แห่ง พบว่า มีเพียง 17.3% เท่านั้นที่เริ่มใช้ Gen AI แล้ว ขณะที่ 26.8% กำลังพิจารณานำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ แต่ 48.4% ยังไม่มีแผนจะทำเช่นนั้น
ผลสำรวจที่จัดทำทางออนไลน์เผยให้เห็นว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 54.1% ระบุว่า ปัญหาหลักคือการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะและความรู้ด้านการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 41.1% แสดงความสงสัยเกี่ยวกับความแม่นยำของเนื้อหาที่สร้างโดย AI และ 39.1% ไม่แน่ใจว่างานใดบ้างที่จะได้รับประโยชน์จากการนำ AI มารวมเข้ากับการทำงาน
นอกจากนี้ บริษัทต่าง ๆ ยังระบุถึงความจำเป็นที่จะต้องกำหนดกฎเกณฑ์ภายในเพื่อรับผิดชอบกรณีที่ AI สร้างปัญหา ข้อกฎหมาย เช่น ลิขสิทธิ์ และการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ตลอดจนความเสี่ยงที่จะเกิดการรั่วไหลของข้อมูล
ในบรรดาองค์กรที่กำลังใช้ปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้างในปัจจุบัน มีเพียง 19.5% เท่านั้นที่มีการกำหนดแนวทางการใช้งานที่ชัดเจน ซึ่งบ่งชี้ว่าหลายองค์กรยังไม่ได้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่