สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า โตโยต้า มอเตอร์ (Toyota Motor) เตรียมติดตั้งเครื่องหล่อตัวถังแบบชิ้นเดียว หรือกระบวนการ Gigacasting ในโรงงานแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นภายในปีนี้ เพราะหวังลดต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยใช้เทคนิคเดียวกับเทสลา (Tesla)
เครื่อง Gigacasting ที่ว่านี้จะตั้งอยู่ในศูนย์การผลิตในจังหวัดไอจิ โดยเครื่องจักรดังกล่าวจะเป็นเครื่องหล่อที่ใหญ่ที่สุดเครื่องหนึ่งในญี่ปุ่น จะมีแรงปิดแม่พิมพ์สูงถึง 9,000 ตัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเครื่อง Gigacasting มีแรงปิดแม่พิมพ์อย่างน้อย 6,000 ตัน
เครื่อง Gigacasting นี้ใช้สร้างโมดูลขนาดใหญ่สำหรับยานพาหนะ ซึ่งหลอมส่วนประกอบหลายชิ้นเข้าด้วยกันโดยใช้อลูมิเนียมอัลลอยหลอมเหลวที่ป้อนเข้าไปในเครื่องขึ้นรูปด้วยแรงดันสูง โดยการขึ้นรูปชิ้นส่วนหลายชิ้นในขั้นตอนเดียวช่วยลดมวลของรถยนต์ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และยิ่งมีแรงกดมากเท่าไร เครื่องจักรก็จะสามารถผลิตชิ้นส่วนขนาดใหญ่ได้เท่านั้น
โตโยต้าหวังที่จะนำรายได้จากธุรกิจรถยนต์ไฮบริดไปลงทุนกับการพัฒนารถ EV และแข่งขันกับคู่แข่งในระดับโลก
โตโยต้าจะเริ่มใช้เครื่อง Gigacasting นี้กับรถ EV รุ่นใหม่อย่าง LF-ZC ภายใต้แบรนด์เลกซัส (Lexus) ซึ่งกำหนดวางจำหน่ายในปี 2569
เครื่อง Gigacasting คาดว่าจะเพื่อใช้สร้างต้นแบบชิ้นส่วน EV ไม่ใช่ผลิตจำนวนมาก โดยโตโยต้าจะประเมินว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยลดการใช้ชิ้นส่วนและกระบวนการ รวมถึงทำให้ EV มีน้ำหนักเบาลงหรือไม่
ปัจจุบัน มีบริษัทมากกว่า 10 แห่งทั่วโลกที่นำเทคโนโลยี Gigacasting มาใช้ ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐ ยุโรป และจีน
ฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) ได้เปิดตัวเครื่อง Gigacasting ขนาด 6,000 ตันที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาในจังหวัดโทชิงิ เพื่อเตรียมการผลิตจำนวนมาก ส่วนนิสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) วางแผนที่จะติดตั้งเครื่องขนาด 6,000 ตันในปีงบประมาณ 2570 โดยมีเป้าหมายที่จะลดน้ำหนักของชิ้นส่วนลง 20%