นิวรัลลิงก์ (Neuralink) บริษัทสตาร์ตอัปของนายอีลอน มัสก์ ที่พัฒนาเทคโนโลยีการฝังชิปในสมองมนุษย์ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ฝังชิปที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยอัมพาตสามารถใช้อุปกรณ์ดิจิทัลโดยใช้เพียงความคิด และชิปนี้ทำงานได้ดีกับผู้ป่วยในการทดลองรายที่สอง
นิวรัลลิงก์ระบุว่า ผู้ป่วยนามว่า "อเล็กซ์" ไม่พบปัญหาสายเชื่อมต่อหดตัว (thread retraction) หลังจากที่เคยพบปัญหานี้มาก่อนกับนายโนแลนด์ อาร์บอห์ ผู้เข้ารับการปลูกถ่ายชิปรายแรกของบริษัทฯ เมื่อเดือนม.ค.
ย้อนกลับไปกรณีของนายอาร์บอห์นั้น สายไฟขนาดเล็กจิ๋วของชิปหดตัวลงหลังการผ่าตัด ส่งผลให้ปริมาณอิเล็กโทรดที่ใช้ในการวัดสัญญาณสมองลดลงอย่างมาก และสายเชื่อมดังกล่าวของนายอาร์บอห์ได้รับการปรับให้เสถียรแล้ว
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นิวรัลลิงก์ทราบถึงปัญหาดังกล่าวอยู่แล้วในการทดลองกับสัตว์
นิวรัลลิงก์กล่าวเมื่อวันพุธ (21 ส.ค.) ว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น ลดความเคลื่อนไหวของสมองระหว่างการผ่าตัด ตลอดจน จำกัดช่องว่างระหว่างชิปกับพื้นผิวของสมอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่คล้ายคลึงกันกับผู้ป่วยรายที่ 2
นิวรัลลิงก์กำลังอยู่ในขั้นทดสอบอุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง โดยอุปกรณ์นี้ช่วยให้ผู้ป่วยรายแรกสามารถเล่นวิดีโอเกม ท่องอินเทอร์เน็ต โพสต์ข้อความลงบนโซเชียลมีเดีย และขยับเคอร์เซอร์บนแล็ปท็อปได้
เมื่อเดือนที่แล้ว บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการฝังอุปกรณ์ดังกล่าวในผู้ป่วยรายที่ 2 ซึ่งได้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเล่นวิดีโอเกมและเรียนรู้วิธีออกแบบวัตถุ 3 มิติ
ทั้งนี้ นิวรัลลิงก์กำลังพัฒนาส่วนต่อประสานสมองกับคอมพิวเตอร์ (brain-computer interface - BCI) เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโดยใช้เทคโนโลยีควบคุมอาการอัมพาต โดยระบบดังกล่าวเรียกว่า "เทเลพาธี" (Telepathy) ซึ่งใช้สายไฟบางเฉียบ 64 เส้นฝังลงในสมองโดยตรง โดยสายไฟเหล่านี้บางกว่าเส้นผมของมนุษย์และบันทึกสัญญาณประสาทผ่านอิเล็กโทรด 1,024 ตัว
BCI ได้รับการศึกษาในแวดวงวิชาการมานานหลาย 10 ปี และบริษัทอื่น ๆ อีกหลายแห่ง เช่น ซิงครอน (Synchron), พาราโดรมิกส์ (Paradromics) และพรีซิชัน นิวโรไซแอนซ์ (Precision Neuroscience) ก็กำลังพัฒนาระบบของตนเอง