"พาเวล ดูรอฟ" ซีอีโอแอป Telegram ถูกจับกุมที่สนามบินฝรั่งเศส

ข่าวเทคโนโลยี Sunday August 25, 2024 08:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพาเวล ดูรอฟ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งและซีอีโอแอปแชต "เทเลแกรม" (Telegram) ถูกจับกุมที่สนามบินบูร์เฌต์ (Bourget) ชานกรุงปารีสเมื่อเย็นวันเสาร์ที่ผ่านมา (24 ส.ค.) ตามรายงานของช่องทีวี TF1 และ BFM ที่อ้างแหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนาม

ตามรายงานบนเว็บไซต์ของ TF1 นายดูรอฟเดินทางมาด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ทั้งนี้ มีการเปิดเผยเพิ่มเติมว่าเขาถูกออกหมายจับในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนเบื้องต้นโดยตำรวจ

ทั้ง TF1 และ BFM รายงานว่า ประเด็นหลักของการสืบสวนคือเรื่องที่เทเลแกรมมีผู้ดูแลระบบไม่เพียงพอ ซึ่งตำรวจเห็นว่าช่องโหว่นี้เปิดทางให้อาชญากรใช้แอปนี้ทำเรื่องผิดกฎหมายได้โดยไม่มีใครคอยสอดส่องดูแล

TF1 ระบุว่า นายดูรอฟเดินทางมาจากอาเซอร์ไบจานและถูกจับกุมเมื่อเวลาประมาณ 20:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น

ด้านสถานทูตรัสเซียประจำฝรั่งเศสกล่าวกับสำนักข่าว TASS ของรัสเซียว่า ทีมงานของนายดูรอฟไม่ได้ติดต่อมาหลังจากมีรายงานการจับกุม อย่างไรก็ตาม ทางสถานทูตกำลังเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์นี้อย่างเต็มที่

นายมิคาอิล อูลยานอฟ ผู้แทนรัสเซียประจำองค์กรระหว่างประเทศในกรุงเวียนนา พร้อมด้วยนักการเมืองรัสเซียอีกหลายคน รีบออกมาตำหนิฝรั่งเศสทันที โดยกล่าวหาฝรั่งเศสว่าทำตัวเป็นเผด็จการ

"คนไร้เดียงสาบางคนยังไม่รู้ตัวว่า ถ้าเขามีบทบาทเด่นไม่มากก็น้อยในพื้นที่ข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศ การไปเยือนประเทศที่กำลังเปลี่ยนเป็นสังคมเผด็จการมากขึ้นนั้น ก็ย่อมไม่ปลอดภัย" นายอูลยานอฟโพสต์บนเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์)

ด้านบล็อกเกอร์ชาวรัสเซียหลายคนเรียกร้องให้มีการประท้วงที่สถานทูตฝรั่งเศสทั่วโลกในเวลาเที่ยงวันของวันอาทิตย์นี้ (25 ส.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เทเลแกรมเป็นแอปแชตยอดนิยมในรัสเซีย ยูเครน และประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต โดยถือเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชั้นนำของโลก รองจากยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก, ยูทูบ, วอตส์แอปป์, อินสตาแกรม, ติ๊กต๊อก และวีแชท ทั้งนี้ เทเลแกรมตั้งเป้าที่จะมียอดผู้ใช้งานถึง 1 พันล้านคนให้ได้ภายในปีหน้านี้

เทเลแกรมซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ดูไบ ก่อตั้งโดยนายดูรอฟ ชาวรัสเซียโดยกำเนิด เขาตัดสินใจออกจากรัสเซียในปี 2557 หลังจากไม่ยอมทำตามคำสั่งรัฐบาลที่บีบให้ปิดกั้นกลุ่มฝ่ายค้านบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย VK ของเขา ซึ่งท้ายที่สุดเขาก็ได้ขายกิจการ VK นี้ไป

หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนในปี 2565 เทเลแกรมได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลหลักเกี่ยวกับสงครามและการเมืองที่เกี่ยวข้องความขัดแย้งครั้งนี้ โดยเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ทั้งสองฝ่ายนำเสนอข้อมูลแบบไม่มีการกรอง ซึ่งบางครั้งก็มีภาพที่รุนแรงและข้อมูลที่อาจทำให้เข้าใจผิด

แอปเทเลแกรมได้กลายเป็นช่องทางการสื่อสารหลักของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครนและคณะทำงาน ขณะเดียวกัน ทางรัฐบาลรัสเซียก็ใช้แอปนี้เผยแพร่ข่าวสารของตนด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ เทเลแกรมยังกลายเป็นหนึ่งในช่องทางไม่กี่แห่งที่ชาวรัสเซียสามารถเข้าถึงข่าวสารเกี่ยวกับสงครามได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ