มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ประธานกรรมการบริหารบริษัทเมตา แพลตฟอร์มส์ จำกัด (Meta Platforms Inc.) เปิดเผยว่า เฟซบุ๊กถูกรัฐบาลสหรัฐฯ กดดันให้เซนเซอร์เนื้อหาเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในช่วงการระบาดใหญ่ทั่วโลก และเขารู้สึกเสียใจที่บริษัทยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าว
ซักเกอร์เบิร์กเขียนในจดหมายถึงคณะกรรมาธิการตุลาการสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่า "ในปี 2564 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน รวมทั้งทำเนียบขาว ได้กดดันทีมงานของเราอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน ให้เซนเซอร์เนื้อหาเกี่ยวกับโรคโควิด-19 บางประการ แม้กระทั่งเรื่องขบขันและการเสียดสี"
ซักเกอร์เบิร์กกล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้การตัดสินใจลบเนื้อหาจะเป็นของเมตาก็ตาม แต่ "การที่รัฐบาลมากดดันเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และผมรู้สึกเสียใจที่ตอนนั้นเราไม่ได้ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านอย่างชัดเจน"
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค เฟซบุ๊กถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้ที่คัดค้านมาตรการล็อกดาวน์ การฉีดวัคซีน และการบังคับสวมหน้ากากอนามัย สาเหตุเนื่องจากเฟซบุ๊กได้ลบโพสต์บางรายการ โดยอ้างว่าโพสต์เหล่านั้นมีข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับไวรัส หรือขัดต่อนโยบายของบริษัท ทั้งนี้ ในระยะเวลาเพียงปีเศษ เฟซบุ๊กได้นำเนื้อหาออกจากแพลตฟอร์มมากกว่า 20 ล้านรายการ
ซักเกอร์เบิร์กไม่ใช่คนเดียวที่แสดงความเสียใจต่อการควบคุมเนื้อหาในอดีตที่เกินพอดี เพราะผู้บริหารโซเชียลมีเดียคนอื่น ๆ อย่างแจ็ค ดอร์ซีย์ อดีตซีอีโอของทวิตเตอร์ ก็ยอมรับว่าการเซนเซอร์เนื้อหาในช่วงที่ผ่านมานั้นอาจเข้มงวดจนเกินไป
ในช่วงใกล้ถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส จะชิงชัยกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซักเกอร์เบิร์กก็พยายามวางตัวเป็นกลางทางการเมืองอย่างเต็มที่
"ผมตั้งใจจะวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายไหน และไม่อยากให้ใครมองว่าผมกำลังมีบทบาทอะไรทั้งนั้น" ซักเกอร์เบิร์กเขียนไว้ในจดหมาย ซึ่งข้อความดังกล่าวได้รับการเผยแพร่บนหน้าเฟซบุ๊กของคณะกรรมาธิการตุลาการสภาผู้แทนราษฎร และทางเมตาได้ยืนยันความถูกต้อง ทั้งนี้ เขาได้กล่าวถึงการสนับสนุนที่บริษัทเคยมอบให้ในการเลือกตั้งปธน.ครั้งที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานของการเลือกตั้ง