ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์กล่าวว่า ผู้ผลิตรถยนต์ควรดำเนินการมากกว่านี้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของยานพาหนะที่สามารถอัปเดตซอฟต์แวร์ทางไกลได้ เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้รถยนต์มีความเสี่ยงที่จะถูกแฮกและถูกควบคุมโดยที่เจ้าของรถไม่รู้
ในรถยนต์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน การสื่อสารแทบทั้งหมดระหว่างสมาร์ตโฟนของผู้ขับขี่และรถยนต์จะดำเนินผ่านอินเทอร์เน็ตโดยใช้ระบบคลาวด์ ไม่ว่าจะเป็นฟังก์ชันพื้นฐานอย่างการสตาร์ตรถจากระยะไกลหรือการเปิดแอร์ บางครั้งก็เป็นคำสั่งที่ผู้ใช้ส่งไปยังรถยนต์ และบางครั้งก็เป็นคำขอที่ผู้ผลิตส่งมาเพื่ออัปเดตซอฟต์แวร์ของรถยนต์
ลิซ เจมส์ ที่ปรึกษาจากเอ็นซีซี กรุ๊ป (NCC Group) ซึ่งเป็นบริษัทความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และมีลูกค้าบางรายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรป ระบุว่า มีหลายกรณีที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์สามารถส่งคำสั่งไปยังรถยนต์จากระยะไกลผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้โดยใช้บัญชีที่ไม่ได้รับอนุญาต
"จากการออกแบบรถยนต์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา ทำให้เกิดภัยคุกคามอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน" เจมส์กล่าว
ความเสี่ยงนี้ได้ถูกเปิดเผยเมื่อต้นปีนี้ เมื่อทีมแฮกเกอร์ระดับแนวหน้าได้รวมตัวกันในกรุงโตเกียวในระหว่างการประชุม Automotive World เพื่อพยายามเจาะระบบของรถยนต์เทสลาเพื่อชิงเงินรางวัล ขณะที่ในปี 2565 วัยรุ่นชาวเยอรมันรายหนึ่งได้กลายเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก เมื่อเขาสามารถควบคุมฟังก์ชันบางอย่างของรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลาได้ เช่น การเปิดและปิดประตู การเพิ่มระดับเสียงเพลง และการปิดระบบความปลอดภัย
บรรดาผู้ขับขี่รถยนต์ทั่วโลกคุ้นเคยกับการเชื่อมต่อโทรศัพท์ของตนโดยใช้ระบบปฏิบัติการคาร์เพลย์ (CarPlay) ของแอปเปิ้ล (Apple) หรือแอนดรอยด์ (Android) ของกูเกิล (Google) เพื่อแสดงอินเทอร์เฟซแบบสมาร์ตโฟนบนหน้าจอของแผงหน้าปัดรถยนต์ เพื่อควบคุมและใช้งานทุกอย่างตั้งแต่แผนที่ไปจนถึงเสียงเพลง
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายกำลังพัฒนาระบบปฏิบัติการของตนเอง โดยโตโยต้า มอเตอร์ (Toyota Motor) กำลังพัฒนาระบบที่ชื่อว่าอารีน (Arene) ซึ่งคาดว่าจะนำมาใช้ในรถยนต์ในปี 2568 ขณะที่โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) พัฒนาซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า VW.os
นอกจากนี้ ฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) และนิสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) ได้ตกลงกันเมื่อเดือนที่แล้วที่จะร่วมมือกันพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์
ด้านสื่อท้องถิ่นในญี่ปุ่นรายงานเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า โตโยต้า, ฮิตาชิ (Hitachi) และบริษัทอื่น ๆ อีกประมาณ 100 แห่ง ได้ให้คำมั่นว่า จะสร้างกฎเกณฑ์ร่วมกันเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ในรถยนต์อัจฉริยะเพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์