แหล่งข่าววงในเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวานนี้ (25 ก.ย.) ว่า โอเพนเอไอ (OpenAI) บริษัทผู้สร้างแชตจีพีที (ChatGPT) เตรียมปรับโครงสร้างธุรกิจหลักไปเป็นบริษัทแสวงหาผลกำไรที่สร้างคุณประโยชน์ต่อสังคม (for-profit benefit corporation) ซึ่งจะทำให้บริษัทหลุดพ้นจากการควบคุมของคณะกรรมการองค์กรไม่แสวงหากำไร
แหล่งข่าวระบุว่า แม้โอเพนเอไอจะเปลี่ยนเป็นบริษัทแสวงหากำไร แต่องค์กรที่ไม่แสวงหากำไรเดิมจะยังคงอยู่โดยถือหุ้นส่วนน้อยในบริษัทใหม่นี้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้อาจส่งผลต่อการจัดการความเสี่ยงของ AI ภายใต้โครงสร้างการบริหารแบบใหม่
ทั้งนี้ แซม อัลท์แมน ซีอีโอของโอเพนเอไอ จะได้รับหุ้นในบริษัทเป็นครั้งแรก โดยบริษัทอาจมีมูลค่าสูงถึง 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐหลังปรับโครงสร้าง และบริษัทกำลังพยายามยกเลิกข้อจำกัดด้านผลตอบแทนการลงทุนเพื่อดึงดูดนักลงทุน
โฆษกของโอเพนเอไอกล่าวว่า "เรายังคงมุ่งมั่นพัฒนา AI ให้เป็นประโยชน์ต่อทุกคน และกำลังทำงานร่วมกับคณะกรรมการเพื่อให้แน่ใจว่า เรามีความพร้อมมากที่สุดที่จะบรรลุภารกิจนี้ โดยองค์กรไม่แสวงหากำไรยังคงเป็นหัวใจสำคัญของภารกิจ และจะดำเนินงานต่อไป"
รอยเตอร์ระบุว่า แม้รายละเอียดโครงสร้างใหม่จะถูกเปิดเผยออกมาบ้างแล้ว แต่แผนการทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนการหารือกับทนายและผู้ถือหุ้น ยังไม่มีกำหนดการที่แน่นอนว่า การปรับโครงสร้างจะเสร็จสิ้นเมื่อใด
การปรับโครงสร้างครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในระดับบริหารของโอเพนเอไอ โดยเมื่อวานนี้ มิรา มูราติ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีได้ประกาศลาออกอย่างกะทันหัน ขณะที่เกร็ก บร็อคแมน ประธานบริษัทก็อยู่ในช่วงลางาน
โอเพนเอไอก่อตั้งขึ้นในปี 2558 ในฐานะองค์กรวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (AI) แบบไม่แสวงหากำไร ต่อมาในปี 2562 ได้จัดตั้งบริษัทลูกได้แก่ โอเพนเอไอ แอลพี (OpenAI LP) เพื่อดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์ โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนงานวิจัยจากไมโครซอฟท์ (Microsoft)
โอเพนเอไอดึงดูดความสนใจจากทั่วโลกด้วยการเปิดตัวแชตจีพีทีในปลายปี 2565 โดยแอปเจเนอเรทีฟเอไอ (Generative AI) สุดล้ำที่สามารถตอบคำถามด้วยภาษาที่เป็นธรรมชาติราวกับมนุษย์ทำให้แชตจีพีทีกลายเป็นแอปที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยผู้ใช้งานประจำกว่า 200 ล้านรายต่อสัปดาห์ และจุดชนวนการแข่งขันด้านการลงทุนในเทคโนโลยี AI ทั่วโลก
ความสำเร็จของแชตจีพีทีส่งผลให้มูลค่าของโอเพนเอไอพุ่งทะยานจาก 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2564 เป็น 1.5 แสนล้านดอลลาร์ในการระดมทุนรอบใหม่ผ่านตราสารหนี้แปลงสภาพ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจา โดยดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่เช่น ไธร์ฟ แคปิตอล (Thrive Capital) และแอปเปิ้ล (Apple) ให้เข้าร่วมลงทุน
เดิมที โอเพนเอไอมีโครงสร้างที่ให้องค์กรไม่แสวงกำไรควบคุมบริษัทลูกที่แสวงกำไรได้ทั้งหมด เพื่อรับประกันการพัฒนา "ปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป" หรือ AGI (ฉลาดเทียบเท่าหรือเหนือกว่ามนุษย์) อย่างปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อทุกคน
โครงสร้างนี้ตกเป็นประเด็นร้อนเมื่อพ.ย.ปีที่แล้ว เมื่อบอร์ดองค์กรไม่แสวงกำไรลงมติปลดอัลท์แมนพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากขาดความไว้วางใจและไม่มีความชัดเจนในการสื่อสาร แต่อัลท์แมนกลับมาบริหารงานอีกครั้งใน 5 วันต่อมา หลังจากได้รับการสนับสนุนจากพนักงานและนักลงทุนส่วนใหญ่
หลังจากนั้น คณะกรรมการบริษัทโอเพนเอไอได้รับการปรับเปลี่ยนโดยมีผู้บริหารจากแวดวงเทคโนโลยีเข้าร่วมมากขึ้น โดยมี เบรต เทย์เลอร์ อดีตผู้บริหารเซลส์ฟอร์ส (Salesforce) เป็นประธาน ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในบริษัทต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการองค์กรไม่แสวงหากำไรทั้ง 9 คน
การยกเลิกการควบคุมโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจะทำให้โอเพนเอไอดำเนินงานคล้ายกับสตาร์ตอัปทั่วไป ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนที่ทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ต่างยินดี
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้อาจทำให้เกิดความกังวลในแวดวงผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของ AI ว่า โอเพนเอไอจะยังสามารถกำกับดูแลตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพในการพัฒนา AGI หรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ โอเพนเอไอได้ยุบทีม "superalignment" ซึ่งมีหน้าที่วิเคราะห์และรับมือกับความเสี่ยงระยะยาวของ AI ไปแล้วในปีนี้
ยังไม่มีความชัดเจนว่า อัลท์แมนจะได้รับหุ้นในสัดส่วนเท่าใด แม้ว่าเขาจะเป็นมหาเศรษฐีพันล้านจากการลงทุนในสตาร์ตอัปหลายแห่งไปแล้วก็ตาม อัลท์แมนเคยปฏิเสธที่จะถือหุ้นในโอเพนเอไอ โดยให้เหตุผลว่า คณะกรรมการบริษัทควรประกอบด้วยกรรมการส่วนใหญ่ที่เป็นกลางและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน นอกจากนี้ เขายังเคยกล่าวว่า เขามีเงินมากพอแล้ว และทำงานเพราะความรักในงานที่ทำ
ทั้งนี้ โครงสร้างใหม่ของโอเพนเอไอจะคล้ายคลึงกับคู่แข่งอย่าง แอนทรอปิก (Anthropic) และเอ็กซ์เอไอ (xAI) ของอีลอน มัสก์ ซึ่งจดทะเบียนเป็น "benefit corporation" อันเป็นรูปแบบบริษัทที่แสวงหาผลกำไรควบคู่ไปกับการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืน