นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน จอห์น ฮอปฟิลด์ และชาวอังกฤษ-แคนาดา เจฟฟรีย์ ฮินตัน คว้ารางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2567 จากการค้นพบและคิดค้นในสาขาแมชชีนเลิร์นนิง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่ความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในปัจจุบัน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เทคโนโลยีเกิดใหม่ที่ทั้งสองร่วมบุกเบิกนี้ ได้รับการยกย่องถึงศักยภาพในการปฏิวัติวงการต่าง ๆ ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ขั้นสูงไปจนถึงการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้านี้มาพร้อมกับความกังวลว่า มนุษยชาติอาจถูกสิ่งประดิษฐ์ที่ตนเองสร้างขึ้นแซงหน้าและเอาชนะมนุษย์ได้ในไม่ช้า
ฮินตัน ผู้ได้รับการขนานนามว่า "บิดาแห่ง AI" สร้างความฮือฮาด้วยการลาออกจากกูเกิล (Google) เมื่อปีที่แล้ว เพื่อเตือนถึงอันตรายของ AI ที่เขาเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาได้อย่างเปิดเผยยิ่งขึ้น
ในการแถลงข่าวผ่านทางโทรศัพท์จากโรงแรมในแคลิฟอร์เนีย ฮินตันกล่าวว่า "เราไม่เคยมีประสบการณ์ที่จะอยู่ร่วมกับสิ่งที่ฉลาดกว่าเรามาก่อน ? มันจะเป็นสิ่งที่วิเศษมากในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านการดูแลสุขภาพ ... แต่เราก็ต้องกังวลถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสิ่งเหล่านี้หลุดออกไปจากการควบคุมของเรา"
ขณะเดียวกัน ฮอปฟิลด์ วัย 91 ปี ศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เป็นผู้คิดค้นหน่วยความจำเชิงเชื่อมโยง (associative memory) ที่สามารถจัดเก็บและสร้างรูปภาพ รวมถึงรูปแบบข้อมูลอื่น ๆ ขึ้นมาใหม่ได้
"เมื่อระบบมีความซับซ้อนและขนาดใหญ่ขึ้นมากพอ มันก็จะแสดงคุณสมบัติบางอย่างที่เราไม่อาจคาดเดาได้จากแค่ส่วนประกอบพื้นฐานที่ใส่เข้าไป ? เราต้องยอมรับว่าระบบแบบนี้ก่อให้เกิดหลักการทางฟิสิกส์แบบใหม่" ฮอปฟิลด์กล่าวในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน
ฮอปฟิลด์ร่วมแสดงความกังวลเช่นเดียวกับฮินตัน โดยกล่าวว่า ศักยภาพและขีดจำกัดที่ยังไม่เป็นที่รู้จักของ AI นั้นน่าหวั่นใจ
"เรามักจะคุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่มีทั้งด้านดีและด้านเสีย ไม่ใช่แค่ดีหรือร้ายไปเลยเสียทีเดียว" ฮอปฟิลด์กล่าว
ราชบัณฑิตยสถานวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดนระบุว่า ได้มอบรางวัลให้กับนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองท่านนี้ เพราะพวกเขานำหลักการทางฟิสิกส์มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาวิธีการอันเป็นรากฐานของเทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิงอันทรงพลังในปัจจุบัน ซึ่งกำลังปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และชีวิตประจำวันของเรา
รางวัลนี้มาพร้อมกับเงินมูลค่า 11 ล้านโครนสวีเดน (1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งจะแบ่งให้กับผู้ได้รับรางวัลทั้งสองท่าน
ราชบัณฑิตยสถานฯ เปิดเผยว่า ฮินตัน วัย 76 ปี เกิดที่อังกฤษ ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยโทรอนโต เขาเป็นผู้คิดค้นวิธีการที่ทำให้ระบบสามารถเรียนรู้และค้นหาคุณสมบัติต่าง ๆ ในข้อมูลได้ด้วยตัวเอง รวมถึงการทำงานอย่างเช่น การระบุองค์ประกอบเฉพาะเจาะจงในรูปภาพ
แม้ฮินตันจะลาออกจากกูเกิลในปี 2566 หลังจากตระหนักว่าคอมพิวเตอร์อาจฉลาดกว่ามนุษย์เร็วกว่าที่เขาและผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ คาดการณ์ไว้มาก แต่เขาก็ยืนยันว่า กูเกิลเองได้ดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบมาโดยตลอด
ฮินตันยังกล่าวด้วยว่าเขารู้สึกเสียใจกับงานวิจัยบางชิ้นของเขา แต่ในขณะนั้นเขาได้ทำไปตามข้อมูลที่มีอยู่แล้ว
"หากอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ผมก็คงจะทำแบบเดิมอีก" ฮินตันกล่าวในงานแถลงข่าวรางวัลโนเบล "แต่ผมกังวลว่าผลที่ตามมาในท้ายที่สุดอาจนำไปสู่ระบบที่ฉลาดกว่าเรามาก จนในที่สุดแล้วมันอาจจะเข้าควบคุมทุกอย่าง"