หลังจากที่รอคอยกันมานาน ในที่สุด อีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลา ก็ได้ฤกษ์เผยโฉม "ไซเบอร์แค็บ" (Cybercab) รถแท็กซี่ไร้คนขับที่มาพร้อมประตูแบบปีกนก ไม่มีพวงมาลัย ไม่มีแป้นเหยียบ พร้อมทำเซอร์ไพรส์ด้วยการเปิดตัวรถตู้ไร้คนขับ หรือโรโบแวน (robovan) ในงานเปิดตัวซึ่งจัดขึ้นอย่างอลังการที่สตูดิโอวอร์เนอร์ บราเธอส์ ใกล้ลอสแอนเจลิส วานนี้ (10 ต.ค.)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า มัสก์มาถึงเวทีด้วยรถไซเบอร์แค็บ ซึ่งเขาให้ข้อมูลว่าจะเริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป และจะมีราคาไม่ถึง 3 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นเขาจึงได้เปิดตัวรถตู้ไร้คนขับที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 20 คน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก
ถึงแม้จะเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ แต่มัสก์กลับไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดสำคัญ ๆ อาทิ เทสลาจะสามารถเร่งการผลิตไซเบอร์แค็บได้เร็วเพียงใด มีแผนรับมือกับอุปสรรคด้านกฎระเบียบต่าง ๆ อย่างไร หรือจะใช้แผนธุรกิจใดที่จะทำให้เทสลาแซงหน้าคู่แข่งในตลาดรถแท็กซี่ไร้คนขับอย่างเวย์โม (Waymo) ของอัลฟาเบท (Alphabet) ได้
นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมองว่า การสร้างระบบรถแท็กซี่ไร้คนขับให้ใช้งานได้จริงต้องใช้เวลาหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือ โดยยกตัวอย่างอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงปัญหาของเทคโนโลยีในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น สภาพอากาศเลวร้าย ทางแยกที่ซับซ้อน และพฤติกรรมของคนเดินถนน
อย่างไรก็ดี มัสก์ ซึ่งปรากฏตัวในเสื้อแจ็กเกตหนัง กล่าวกับผู้ชมว่า รถยนต์ไร้คนขับอาจปลอดภัยกว่ารถที่มนุษย์ขับถึง 10 เท่า และขับได้นานกว่า 5-10 เท่า
"อนาคตของรถยนต์ไร้คนขับมาถึงแล้ว ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติจะทำให้คุณได้เวลาในชีวิตคืนมา" มัสก์กล่าว
ก่อนหน้านี้ มัสก์เคยประกาศแผนการที่จะให้บริการรถแท็กซี่เทสลาไร้คนขับ ซึ่งผู้โดยสารสามารถเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันได้ เจ้าของรถเทสลาแต่ละรายสามารถนำรถของตนเองมาลงทะเบียนในแอปเพื่อให้บริการเป็นรถแท็กซี่ไร้คนขับและสร้างรายได้ อย่างไรก็ตาม ในงานวันพฤหัสบดี มัสก์ไม่ได้กล่าวถึงแอปดังกล่าวแต่อย่างใด
งานเปิดตัวนี้ใช้ชื่อว่า "We, Robot" ซึ่งล้อกับชื่อหนังสือรวมเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์อันโด่งดังอย่าง "I, Robot" (ข้าคือหุ่นยนต์) ของนักเขียนชาวอเมริกัน ไอแซค อาซิมอฟ เพื่อสะท้อนความเห็นของมัสก์ที่ว่า เทสลาควรถูกมองว่าเป็น "บริษัทวิทยาการหุ่นยนต์ AI" มากกว่าผู้ผลิตรถยนต์
ทั้งนี้ งานเริ่มช้ากว่ากำหนดเกือบหนึ่งชั่วโมง ซึ่งมัสก์อธิบายว่าเกิดจากเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ของผู้เข้าร่วมงานคนหนึ่ง โดยการนำเสนอที่เตรียมงานมานานหลายเดือนใช้เวลาจริงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง และมีผู้ชมงานดังกล่าวกว่า 4 ล้านคนบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) ของมัสก์
เดนนิส ดิก เทรดเดอร์หุ้นจากทริปเปิ้ล ดี เทรดดิ้ง (Triple D Trading) กล่าวว่า "ผมเป็นผู้ถือหุ้นและค่อนข้างผิดหวัง ผมคิดว่าตลาดต้องการกรอบเวลาที่ชัดเจนกว่านี้ ผมว่าเขาไม่ได้พูดอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันเลย"
มัสก์กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการใช้งานไซเบอร์แค็บจะอยู่ที่ 20 เซนต์ต่อไมล์ และการชาร์จจะเป็นแบบเหนี่ยวนำ ไม่ต้องใช้ปลั๊ก ส่วนรถตู้ไร้คนขับจะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า คือ 5 เซนต์ต่อไมล์
มัสก์ระบุว่า รถยนต์ไร้คนขับของเทสลาจะใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และกล้องถ่ายรูปเป็นหลัก แทนที่จะใช้ฮาร์ดแวร์อย่างไลดาร์ (Lidar) ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่คู่แข่ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าวิธีการของมัสก์มีความท้าทายทั้งในด้านเทคนิคและด้านกฎระเบียบ
นอกเหนือจากยานยนต์แล้ว มัสก์ยังได้กล่าวถึง "ความคืบหน้าอย่างมาก" ในการพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ "ออปติมัส" (Optimus) ซึ่งคาดว่าจะมีราคาอยู่ระหว่าง 2-3 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ และสามารถทำงานต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้