หน่วยงานต่อต้านการผูกขาดของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลในวันพุธนี้ (20 พ.ย.) ร่วมกับรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสั่งให้กูเกิล (Google) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของอัลฟาเบท (Alphabet) ขายเบราว์เซอร์โครม (Chrome) ซึ่งถือเป็นการดำเนินการครั้งประวัติศาสตร์กับหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดระบุว่า กระทรวงฯ จะขอให้ อามิต เมห์ตา ผู้พิพากษาศาลแขวงในกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ ซึ่งเคยตัดสินเมื่อเดือนส.ค.ว่ากูเกิลผูกขาดตลาดเสิร์ชเอนจินแบบผิดกฎหมายนั้น ทำการ กำหนดมาตรการควบคุมทั้งด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบปฏิบัติการของสมาร์ตโฟนแอนดรอยด์ (Android) ตลอดจนข้อกำหนดเกี่ยวกับการอนุญาตใช้ข้อมูลด้วย
หากศาลเห็นชอบตามข้อเสนอ อาจนำไปสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่จะพลิกโฉมตลาดสืบค้นข้อมูลออนไลน์และอุตสาหกรรม AI ที่กำลังเติบโต
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า คดีนี้เริ่มตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และยืดเยื้อมาถึงยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งถือเป็นความพยายามจัดการบริษัทเทคโนโลยีอย่างแข็งกร้าวที่สุด นับตั้งแต่สหรัฐฯ พยายามสั่งแยกบริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) เมื่อ 20 ปีก่อนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ การเป็นเจ้าของเบราว์เซอร์ที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลกเป็นกุญแจสำคัญของธุรกิจโฆษณาของกูเกิล เพราะช่วยให้บริษัทสามารถเห็นพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้ที่ล็อกอินเข้าระบบ และนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในการยิงโฆษณาให้ตรงเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัท นอกจากนี้ กูเกิลยังใช้เบราว์เซอร์โครม (Chrome) เป็นประตูนำทางผู้ใช้ไปยัง เจมิไน (Gemini) ผลิตภัณฑ์ AI ตัวท็อปของบริษัทที่มีแนวโน้มจะพัฒนาจากแค่แชตบอตตอบคำถามไปเป็นผู้ช่วยส่วนตัวที่ติดตามผู้ใช้ไปตลอดการท่องเว็บ