ราคาหุ้นอัลฟาเบท (Alphabet) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล (Google) พุ่งขึ้น 6% ในวันอังคาร (10 ธ.ค.) หลังจากเมื่อวันจันทร์ (9 ธ.ค.) อัลฟาเบทได้ยกย่องชิปประมวลผลควอนตัมตัวใหม่ล่าสุดว่าเป็น "ความสำเร็จครั้งใหญ่"
เมื่อวันจันทร์ อัลฟาเบทเปิดตัว "Willow" ชิปประมวลผลควอนตัมที่บริษัทระบุว่า มีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับชิปรุ่นก่อนในปี 2562 ตามเกณฑ์มาตรฐานการประมวลผลควอนตัม
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) รายงานว่า Willow ใช้ "คิวบิต" ที่ไม่คงที่ในการแสดงตัวเลขแทนทรานซิสเตอร์ เช่นเดียวกับที่ใช้ในชิปควอนตัมลักษณะเดียวกันและชิปเซมิคอนดักเตอร์แบบดั้งเดิม โดยกูเกิลระบุว่า เทคโนโลยีของตนสามารถลดข้อผิดพลาดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่เห็น เนื่องจากชิปควอนตัมมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่ดีขึ้น
กูเกิลระบุว่า Willow ถือเป็นหมุดหมายที่ 2 ในกลยุทธ์ 6 ขั้นเพื่อพัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่สามารถใช้งานได้สารพัดประโยชน์ โดยชิปดังกล่าวมีขนาดประมาณ 100 คิวบิต แต่กูเกิลมีแผนจะสร้างระบบที่มีขนาด 1 ล้านคิวบิตในท้ายที่สุด
ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอของกูเกิลกล่าวผ่านเอ็กซ์ว่า "เรามองว่า Willow เป็นย่างก้าวที่สำคัญบนเส้นทางสู่การสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมสารพัดประโยชน์ที่สามารถใช้งานได้จริงในด้านต่าง ๆ เช่น การค้นคว้ายารักษาโรค พลังงานฟิวชัน การออกแบบแบตเตอรี และอื่น ๆ"
การประกาศดังกล่าวได้รับเสียงชื่นชมในโซเชียลมีเดียจากบุคคลสำคัญทางธุรกิจด้านเทคโนโลยีหลายคน รวมถึง อีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลา (Tesla) และแซม อัลท์แมน ซีอีโอของโอเพนเอไอ (OpenAI) โดยพิชัยกล่าวตอบโพสต์ของมัสก์ว่า "เราควรสร้างคลัสเตอร์ควอนตัมในอวกาศด้วยยานสตาร์ชิปสักวันหนึ่ง"