คณะนักวิจัยจากเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาหุ่นยนต์สวมใส่น้ำหนักเบา ที่สามารถเดินเข้าหาผู้ป่วยอัมพาตท่อนล่างและเชื่อมต่อเข้ากับร่างกายของผู้สวมใส่ได้โดยอัตโนมัติ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเดิน หลบหลีกสิ่งกีดขวาง และขึ้นลงบันไดได้อีกครั้ง
ทีมงานจากห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์ช่วยเดิน (Exoskeleton Laboratory) ของสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งเกาหลี (KAIST) เปิดเผยว่า เป้าหมายของทีมงานคือการสร้างหุ่นยนต์ที่ผสานเข้ากับชีวิตประจำวันของผู้พิการได้อย่างกลมกลืน
คิม ซึงฮวาน ผู้ซึ่งเผชิญกับภาวะอัมพาตท่อนล่าง และเป็นหนึ่งในทีมวิจัย KAIST ได้สาธิตการใช้งานหุ่นยนต์ต้นแบบ ซึ่งช่วยให้เขาเดินได้ด้วยความเร็ว 3.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก้าวขึ้นบันได และก้าวเดินด้านข้างเพื่อเคลื่อนตัวไปนั่งบนม้านั่งได้อย่างราบรื่น
"มันเดินมาหาผมได้เลยไม่ว่าผมจะอยู่ที่ไหน แม้ผมนั่งรถเข็นอยู่ และผมก็สวมมันเพื่อช่วยให้ผมยืนขึ้นได้ นี่เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของมันเลย" คิมกล่าว
หุ่นยนต์ช่วยเดินนี้มีชื่อว่า "WalkON Suit F1" ทำจากอะลูมิเนียมและไทเทเนียม หนัก 50 กิโลกรัม ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 12 ตัวที่จำลองการเคลื่อนไหวของข้อต่อมนุษย์ขณะเดิน
พัค จองซู สมาชิกอีกคนของทีมวิจัย กล่าวว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง "ไอรอนแมน" (Iron Man) "หลังจากที่ผมได้ดูไอรอนแมน ผมก็คิดว่าคงจะดีไม่น้อยถ้าเราสามารถสร้างหุ่นยนต์มาช่วยคนในชีวิตจริงได้"
เพื่อรักษาสมดุลของผู้ใช้ขณะเดิน หุ่นยนต์จึงติดตั้งเซนเซอร์ไว้ที่พื้นรองเท้าและลำตัวส่วนบน คอยตรวจสอบสัญญาณ 1,000 ครั้งต่อวินาทีและคาดการณ์การเคลื่อนไหวของผู้สวมใส่
พัคกล่าวว่า เลนส์ที่ติดตั้งด้านหน้าหุ่นยนต์ทำหน้าที่เป็นดวงตา คอยวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ระบุความสูงของขั้นบันได และตรวจจับสิ่งกีดขวาง เพื่อชดเชยการสูญเสียการรับรู้ทางประสาทสัมผัสของผู้ป่วยอัมพาตท่อนล่างอย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้ คิม ซึงฮวาน คว้าเหรียญทองประเภทหุ่นยนต์ช่วยเดิน จากการสวมใส่ WalkON Suit F1 ในการแข่งขัน Cybathlon 2024 ซึ่งเป็นการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้ผู้พิการได้แสดงความสามารถของหุ่นยนต์ช่วยเหลือใน 8 ประเภทการแข่งขัน
"ผมอยากบอกลูกชายว่า พ่อก็เคยเดินได้เหมือนกัน ผมอยากจะแบ่งปันประสบการณ์ต่าง ๆ ให้กับลูก" คิมกล่าว