"บลูออริจิน" ของ "เจฟฟ์ เบซอส" เลื่อนเที่ยวปฐมฤกษ์จรวดนิวเกลนน์ หลังพบความผิดปกติ

ข่าวเทคโนโลยี Monday January 13, 2025 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บลูออริจิน (Blue Origin) บริษัทอวกาศของเจฟฟ์ เบซอส ประกาศเลื่อนการปล่อยจรวดนิวเกลนน์ (New Glenn) ออกไป หลังตรวจพบ "ความผิดปกติบางประการ" ระหว่างนับถอยหลังในวันนี้ (13 ม.ค.) ส่งผลให้เที่ยวปฐมฤกษ์สู่วงโคจรและการเปิดศึกชิงตลาดปล่อยดาวเทียมกับสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ต้องเลื่อนออกไปอย่างน้อยหนึ่งวัน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จรวดนิวเกลนน์ที่สูงราวตึก 30 ชั้น และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้บางส่วน ตั้งตระหง่านอยู่บนฐานปล่อยของบลูออริจิน ณ สถานีอวกาศกองทัพอากาศแหลมคะแนเวอรัล หลังเติมเชื้อเพลิงมีเทนและออกซิเจนเหลวพร้อมสำหรับการทะยานขึ้นฟ้าตามกำหนดการเดิมเวลา 01:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (13:00 น. ตามเวลาไทย)

แต่ในช่วงท้ายของการนับถอยหลัง บลูออริจินต้องเลื่อนเวลาปล่อยออกไปหลายครั้ง จนเกือบสิ้นสุดกรอบเวลาที่เหมาะสมในการปล่อยจรวดเวลา 04:00 น. โฆษกหญิงของบริษัทแถลงผ่านการถ่ายทอดสดว่า ทีมงานกำลังตรวจสอบ "ความผิดปกติบางประการ" ที่พบ

"เราขอยกเลิกการปล่อยจรวดวันนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาระบบย่อยของยาน ซึ่งต้องใช้เวลาเกินกว่ากรอบเวลาปล่อยที่กำหนด ... เรากำลังพิจารณาหาช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปล่อยครั้งต่อไป" บลูออริจินแถลง

การเลื่อนครั้งนี้อาจใช้เวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง แต่มีแนวโน้มว่าจะยาวนานกว่านั้น เนื่องจากบริษัทต้องตรวจสอบสาเหตุของปัญหาอย่างถี่ถ้วน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจที่แบกรับความเสี่ยงและความคาดหวังอันสูงลิ่วนี้

การขึ้นสู่ฟ้าครั้งนี้เป็นจุดสุดยอดของการพัฒนาที่กินเวลากว่าทศวรรษด้วยเม็ดเงินหลายพันล้านดอลลาร์ โดยหลังจากทะยานขึ้นฟ้า จะมีการทดสอบนำจรวดส่วนฐานกลับมาลงจอดบนเรือกลางมหาสมุทรแอตแลนติกภายใน 10 นาที ขณะที่ส่วนที่สองจะเดินทางต่อสู่วงโคจร

"สิ่งที่เรากังวลที่สุดคือการนำส่วนฐานกลับมาลงจอด ... แน่นอนว่าในการบินครั้งแรก ความผิดปกติอาจเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอน อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น" เบซอส ผู้ก่อตั้งบลูออริจินในปี 2543 ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ก่อนการปล่อยจรวด

ภายในห้องบรรทุกของนิวเกลนน์ บรรจุยานต้นแบบ "บลูริง" (Blue Ring) ยานอวกาศที่ควบคุมทิศทางได้ ซึ่งบลูออริจินตั้งใจจะจำหน่ายให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และลูกค้าเชิงพาณิชย์ เพื่อภารกิจด้านความมั่นคงและบริการดาวเทียม

ทั้งนี้ การนำยานขึ้นสู่วงโคจรที่ต้องการได้ในการปล่อยครั้งแรกถือเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่งสำหรับบริษัทอวกาศ

"ถ้าเราทำได้ นั่นจะเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ ... ส่วนการนำส่วนฐานกลับมาลงจอดได้จะถือเป็นโบนัส" เบซอสกล่าว

ทั้งนี้ การพัฒนาจรวดนิวเกลนน์ผ่านมือซีอีโอมาแล้ว 3 คน และเผชิญความล่าช้าหลายครั้ง ในขณะที่จรวดฟอลคอน 9 (Falcon 9) ของสเปซเอ็กซ์ภายใต้การนำของอีลอน มัสก์ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในวงการด้วยจรวดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และครองสถิติจรวดที่ทำการบินมากที่สุดในโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ