ติ๊กต๊อก (TikTok) เริ่มกลับมาให้บริการในสหรัฐฯ อีกครั้งเมื่อวันอาทิตย์ (19 ม.ค.) หลังจากหยุดให้บริการไปหลายชั่วโมงในคืนวันเสาร์ก่อนที่กฎหมายห้ามใช้แอปพลิเคชันยอดนิยมนี้จะมีผลบังคับใช้ในเวลาเที่ยงคืน
"เราขอขอบคุณว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์สำหรับการให้ความชัดเจนและความมั่นใจแก่บรรดาผู้ให้บริการของเราว่าพวกเขาจะไม่ถูกลงโทษในการให้บริการติ๊กต๊อกแก่ชาวอเมริกันกว่า 170 ล้านคน และช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กกว่า 7 ล้านรายเติบโต" ติ๊กต๊อกระบุในแถลงการณ์ ซึ่งเผยแพร่ภายหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้คำมั่นที่จะป้องกันไม่ให้แพลตฟอร์มติ๊กต๊อกต้องปิดตัวลง
ทั้งนี้ คำสั่งแบนติ๊กต๊อกได้รับการลงนามเป็นกฎหมายโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในเดือนเม.ย. 2567 หลังได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันในสภาคองเกรส จนกระทั่งในวันศุกร์ที่ผ่านมา ศาลฎีกาสหรัฐฯ มีคำวินิจฉัยอย่างเป็นเอกฉันท์ เห็นพ้องตามกฎหมายของสหรัฐฯ ซึ่งระบุให้ไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทแม่ในจีน ขายกิจการติ๊กต๊อกในสหรัฐฯ ภายในวันที่ 19 ม.ค. มิฉะนั้นจะถูกสั่งแบนทั่วประเทศ
จากจุดเริ่มต้นในการเป็นแอปเพื่อความบันเทิงในหมู่วัยรุ่น กลับกลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ติ๊กต๊อกมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
- ปี 2560: เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ
ในเดือนพ.ย. ไบต์แดนซ์เข้าซื้อกิจการแอปตัดต่อวิดีโอ Musical.ly รวมถึงผู้ใช้ 60 ล้านคนในสหรัฐฯ และยุโรป เป็นมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ ก่อนที่จะควบรวมแอปดังกล่าวเข้ากับติ๊กต๊อกในอีกเก้าเดือนต่อมา โดย Musical.ly ยุติการให้บริการในเดือนส.ค. 2561 ส่งผลให้ผู้ใช้ในสหรัฐฯ ถูกโอนย้ายไปยังแอปติ๊กต๊อกโดยอัตโนมัติ
- ปี 2561: มาแรงแซงทางโค้ง
ด้วยอัลกอริทึมที่ทำให้ผู้ใช้เสพติดการดูโพสต์หรือคลิปแบบต่อเนื่อง (binge-watching) ผู้ใช้จำนวนมากเริ่มหันมาแชร์วิดีโอที่สะท้อนไลฟ์สไตล์หรือความสนใจของตนเอง อาทิ การเต้น การทำอาหาร และ "ชาลเลนจ์" ต่าง ๆ ส่งผลให้ติ๊กต๊อกได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ และสามารถแซงหน้าเฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) สแนปแชท (Snapchat) และยูทูบ (YouTube) เป็นแอปที่มียอดดาวน์โหลดรายเดือนสูงสุดได้เป็นครั้งแรก
- ปี 2562: จุดเริ่มต้นความขัดแย้งกับรัฐบาลสหรัฐฯ
ในเดือนต.ค. กลุ่มนักการเมืองสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับอิทธิพลของติ๊กต๊อก โดยเรียกร้องให้มีการสอบสวนกรณีการเข้าซื้อ Musical.ly ต่อมาเดือนพ.ย. รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มเปิดการพิจารณาตรวจสอบติ๊กต๊อกและแอปอื่น ๆ ของจีนเกี่ยวกับความเสี่ยงของแอปเหล่านี้ที่มีต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ จนกระทั่งในเดือนธ.ค. ปีเดียวกัน กระทรวงกลาโหมขอให้บุคลากรทางทหารลบติ๊กต๊อกออกจากโทรศัพท์ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ส่วนตัวหรือโทรศัพท์ที่ใช้ในการทำงาน เช่นเดียวกับหน่วยงานของกองทัพสหรัฐฯ ที่แบนติ๊กต๊อกในโทรศัพท์ของกองทัพ ก่อนที่ในเดือนม.ค.ปีถัดไป กระทรวงกลาโหมจะสั่งห้ามใช้แอปดังกล่าวในโทรศัพท์ทุกเครื่องของกองทัพ
- ปี 2563: ถูกแบนครั้งแรก
วันที่ 6 ส.ค. รัฐบาลทรัมป์ออกคำสั่งบริหารแบนติ๊กต๊อก (และแอปอื่น ๆ ของจีน) เป็นครั้งแรกโดยอ้างถึงข้อกังวลเรื่องการถ่ายโอนข้อมูลผู้ใช้ไปยังหน่วยงานการเมืองของจีน และการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับโควิด-19 โดยในตอนแรก ทรัมป์ออกคำสั่งห้ามบริษัทอเมริกันทำธุรกรรมใด ๆ กับไบต์แดนซ์และบริษัทในเครือ ซึ่งรวมถึงติ๊กต๊อก ก่อนที่ในอีกไม่กี่วันต่อมา เขาได้ออกคำสั่งฉบับที่สอง เรียกร้องให้ไบต์แดนซ์ดำเนินการแยกการดำเนินงานของติ๊กต๊อกในสหรัฐฯ ออกจากบริษัทภายใน 90 วัน
- ปี 2564: เปลี่ยนแปลงภายใต้รัฐบาลชุดใหม่
ในเดือนก.พ. ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้เพียงไม่นาน ตัดสินใจเพิกถอนคำสั่งแบนของทรัมป์ และต่อมาในเดือนมิ.ย. ได้ออกคำสั่งบริหารฉบับใหม่ให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่า เมื่อใดที่เทคโนโลยีและระบบสารสนเทศจะถือเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ โดยให้มีการประเมินตัวชี้วัดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
- ปี 2565-2566 - ถูกกดดันหนักรอบด้าน
ในเดือนมี.ค. 2565 ติ๊กต๊อกเจรจากับคณะกรรมการการลงทุนจากต่างประเทศในสหรัฐฯ เพื่อจัดการโฮสต์ข้อมูลผู้ใช้ในสหรัฐฯ กับผู้ให้บริการบุคคลที่สาม และในเดือนมิ.ย. บริษัทได้ย้ายข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์ของออราเคิล (Oracle) บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกัน เพื่อจำกัดการเข้าถึงข้อมูลของไบต์แดนซ์ และลดความเสี่ยงจากการแทรกแซงของหน่วยข่าวกรองต่างประเทศ
ต่อมาในเดือนก.พ. 2566 ทำเนียบขาวให้เวลาหน่วยงานของรัฐบาลกลาง 30 วันในการลบการติดตั้งแอปติ๊กต๊อกออกจากอุปกรณ์มือถือทั้งหมดของรัฐบาล สืบเนื่องจากที่ FBI และคณะกรรมการกำกับดูแลการสื่อสารของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่เตือนว่า ไบต์แดนซ์อาจแบ่งปันข้อมูลผู้ใช้ติ๊กต๊อกกับรัฐบาลจีน
มี.ค. 2566 สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ซักถามโจว โซ่วจือ ซีอีโอของติ๊กต๊อกในระหว่างการพิจารณาไต่สวนที่กินเวลานานถึงหกชั่วโมง โดยโจว ซึ่งเป็นชาวสิงคโปร์ พยายามโต้แย้งข้อกล่าวหาที่ว่า ติ๊กต๊อกและไบต์แดนซ์เป็นเครื่องมือของรัฐบาลจีน เหตุการณ์นี้กลายเป็นไวรัลไปทั่วสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งรวมถึงติ๊กต๊อกด้วย
- ปี 2567-2568: เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง
การแบนติ๊กต๊อกกลับมาอีกครั้ง โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2567 หลังได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันในสภาคองเกรส และในวันที่ 17 ม.ค. 2568 ศาลฎีกาสหรัฐฯ มีคำวินิจฉัยอย่างเป็นเอกฉันท์ เห็นพ้องตามกฎหมายของสหรัฐฯ ซึ่งระบุให้ไบต์แดนซ์ขายกิจการติ๊กต๊อกในสหรัฐฯ ภายในวันที่ 19 ม.ค. มิฉะนั้นจะถูกสั่งแบนทั่วประเทศ
และแล้ววันที่ 18 ม.ค. ติ๊กต๊อกก็ได้หยุดให้บริการในสหรัฐฯ ก่อนถึงเส้นตายที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในเวลาเที่ยงคืน แต่หลังจากที่จอดำไปไม่กี่ชั่วโมง แอปก็เริ่มกลับมาให้บริการอีกครั้งในวันที่ 19 ม.ค. หลังจากว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ให้คำมั่นว่าจะช่วยเหลือ โดยทรัมป์โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์มทรูธ โซเชียลว่า เขาจะเซ็นคำสั่งบริหารในวันที่ 20 ม.ค. หรือตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่ง เพื่อคุ้มครองบริษัทที่ช่วยติ๊กต๊อกฟื้นฟูบริการ พร้อมเสนอแผนการรวมกิจการระหว่างไบต์แดนซ์กับบริษัทใหม่ในสหรัฐฯ โดยให้บริษัทสหรัฐฯ ถือหุ้น 50%
สำหรับความเป็นไปได้ในการขายกิจการนั้น รายงานข่าวระบุว่า มีผู้สนใจหลายราย แต่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ (Microsoft) เมตา (Meta) และกูเกิล (Google) อาจถูกขัดขวางด้วยข้อกังวลด้านการผูกขาด
คงต้องจับตาดูทิศทางอนาคตของติ๊กต๊อกภายใต้การนำของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ในยุคของทรัมป์ 2.0 ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป จะได้รับความช่วยเหลืออย่างที่ทรัมป์ลั่นวาจาไว้หรือไม่