อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชื่อดัง ยืนยันว่าเขาไม่มีความสนใจที่จะซื้อติ๊กต๊อก (TikTok) แอปวิดีโอสั้นยอดนิยมที่กำลังเผชิญแรงกดดันจากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่พยายามสั่งแบนเนื่องจากกังวลเรื่องความมั่นคง เพราะมีบริษัทไบต์แดนซ์ (ByteDance) จากจีนเป็นเจ้าของ
คำให้สัมภาษณ์ของมัสก์เมื่อปลายเดือนม.ค.ถูกเผยแพร่ทางออนไลน์วันเสาร์ที่ผ่านมา (8 ก.พ.) โดยเดอะ เวลท์ กรุ๊ป (The WELT Group) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทสื่อแอกเซล สปริงเกอร์ เอสอี (Axel Springer SE) ของเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้จัดการประชุมสุดยอดครั้งนี้ โดยมัสก์เข้าร่วมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
"ผมไม่ได้ยื่นข้อเสนอขอซื้อติ๊กต๊อก" มัสก์กล่าว หลังจากที่ก่อนหน้านี้หนึ่งสัปดาห์ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เคยออกมาบอกว่าพร้อมเปิดทางให้มัสก์เข้าซื้อแอปของไบต์แดนซ์หากมัสก์ต้องการ
"ผมยังไม่มีแผนว่าจะทำอย่างไรหากได้เป็นเจ้าของติ๊กต๊อก" มัสก์กล่าวเสริม และว่า เขาไม่ได้ใช้งานแอปติ๊กต๊อกเป็นการส่วนตัว และไม่คุ้นเคยกับรูปแบบของแอป
"ผมไม่ได้กระตือรือร้นที่จะเข้าซื้อติ๊กต๊อก โดยปกติแล้ว ผมแทบไม่เคยซื้อกิจการบริษัทอื่นเลย" มัสก์กล่าว พร้อมเสริมว่า การที่เขาทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ซื้อทวิตเตอร์ ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นเอ็กซ์มาแล้วนั้น ถือเป็นกรณีที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
"โดยปกติ ผมจะสร้างบริษัทขึ้นมาด้วยตัวเองตั้งแต่เริ่มต้น" มัสก์กล่าว
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ปธน.ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อเลื่อนการแบนติ๊กต๊อก ซึ่งเดิมมีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 19 ม.ค.
ไบต์แดนซ์ถูกขีดเส้นตายให้ขายกิจการติ๊กต๊อกในสหรัฐฯ ภายในเดือนม.ค. มิเช่นนั้นจะถูกแบน หลังจากที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแสดงความกังวลว่า แอปดังกล่าวอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เนื่องจากรัฐบาลจีนอาจบังคับให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้งานในสหรัฐฯ ได้ อย่างไรก็ตาม ติ๊กต๊อกยืนยันว่าไม่เคยและจะไม่มีวันเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้งานในสหรัฐฯ
แอปเปิ้ล (Apple) และ กูเกิล (Google) ยังคงไม่นำติ๊กต๊อกกลับมาวางในแอปสโตร์ตั้งแต่กฎหมายสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (7 ก.พ.) ติ๊กต๊อกแถลงว่า บริษัทอนุญาตให้ผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ในสหรัฐฯ สามารถดาวน์โหลดและเชื่อมต่อกับแอปได้ผ่านชุดติดตั้งบนเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดที่เกิดขึ้นกับแพลตฟอร์มติ๊กต๊อกในสหรัฐฯ
ทรัมป์กล่าวว่าเขากำลังเจรจากับหลายฝ่ายเรื่องการซื้อติ๊กต๊อก และคาดว่าจะตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของแอปได้ภายในเดือนนี้ ปัจจุบัน ติ๊กต๊อกมีผู้ใช้ในสหรัฐฯ ราว 170 ล้านคน
ในสัปดาห์นี้ ปธน.ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติภายในปีนี้ โดยระบุว่า กองทุนดังกล่าวอาจเข้าซื้อกิจการติ๊กต๊อกได้
ก่อนหน้านี้ ไบต์แดนซ์ปฏิเสธมาตลอดว่าจะไม่มีการขายกิจการติ๊กต๊อก
การที่ทรัมป์เข้ามาช่วยติ๊กต๊อกถือเป็นการเปลี่ยนจุดยืนจากสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ซึ่งในครั้งนั้น เขาเคยพยายามแบนแอปนี้ เนื่องจากมีความกังวลว่า บริษัทอาจเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานชาวอเมริกันให้กับรัฐบาลจีน อย่างไรก็ดี การแบนดังกล่าวไม่สำเร็จ
เมื่อไม่นานมานี้ ทรัมป์กล่าวว่า เขามี "ความรู้สึกที่ดีต่อติ๊กต๊อก" และยกย่องว่า แอปดังกล่าวมีส่วนช่วยให้เขาได้รับคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2567