ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ประกาศเปิดตัว มาโจรานา 1 (Majorana 1) ชิปหน่วยประมวลผลควอนตัมตัวแรกของบริษัทเมื่อวันพุธ (19 ก.พ.)
ความสำเร็จในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ไมโครซอฟท์ใช้เวลาเกือบ 20 ปีในการวิจัยในด้านนี้ แต่ไมโครซอฟท์อ้างว่า การสร้าง Majorana 1 ต้องอาศัยการพัฒนาสสารรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งบริษัทเรียกว่า สถานะทางทอพอโลยี (topological state)
ชิปควอนตัมของไมโครซอฟท์ใช้คิวบิตเชิงทอพอโลยี (topological qubits) จำนวน 8 ตัว โดยใช้วัสดุหลักคือ อินเดียม อาร์เซไนด์ (indium arsenide) ซึ่งเป็นสารกึ่งตัวนำ (semiconductor) และอะลูมิเนียม (aluminum) ซึ่งเป็นตัวนำยิ่งยวด (superconductor)
ไมโครซอฟท์เปิดเผยผ่านบล็อกในวันพุธว่า "ความยากของการพัฒนาวัสดุที่เหมาะสมเพื่อสร้างอนุภาคที่มีคุณสมบัติแปลกใหม่และสถานะเชิงทอพอโลยีของสสาร เป็นเหตุผลว่า ทำไมความพยายามส่วนใหญ่ในด้านควอนตัมคอมพิวติงจึงมุ่งเน้นไปที่รูปแบบอื่นของคิวบิต"
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) รายงานว่า การทำความเข้าใจสสารเชิงทอพอโลยีและนำมาใช้สร้างชิปควอนตัมได้นั้น ต้องใช้กระบวนการฉีดพ่นอะตอมทีละอะตอมเพื่อให้วัสดุเรียงตัวอย่างสมบูรณ์แบบ
คริสตา สโวร์ นักเทคนิคของไมโครซอฟท์กล่าวผ่านบล็อกว่า "การสร้างวัสดุดังกล่าวเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงต้องการคอมพิวเตอร์ควอนตัม เพราะการทำความเข้าใจวัสดุเหล่านี้เป็นเรื่องยากมาก ด้วยคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่สามารถปรับได้นี้ เราจะสามารถคาดการณ์วัสดุที่มีคุณสมบัติเหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมรุ่นถัดไปที่เหนือระดับยิ่งกว่านี้ได้"
ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเชื่อว่า ในอนาคตควอนตัมคอมพิวเตอร์จะสามารถแก้ปัญหาที่ยากหรือเป็นไปไม่ได้สำหรับคอมพิวเตอร์ทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ