In Focusการเมืองระส่ำกระเทือนเศรษฐกิจโปรตุเกส สัญญาณชี้วิกฤตยูโรโซนยังไม่นิ่ง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 17, 2013 13:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เริ่มต้นช่วงครึ่งของหลังของปี 2556 ด้วยการที่ประเทศเล็กๆในยุโรปอย่างโปรตุเกส กลายมาเป็นประเด็นที่พูดถึงกันในตลาดการเงินโลกอีกครั้ง หลังจากที่โปรตุเกสเผชิญกับวิกฤตการเมืองที่สร้างความหวั่นวิตกเกี่ยวกับเสถียรภาพของรัฐบาลรวมทั้งแนวทางในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ แม้จริงๆแล้ว โปรตุเกสอาจไม่ใช่ประเทศที่มีความสลักสำคัญมากพอที่จะสั่นคลอนเศรษฐกิจโลก แต่ก็นับเป็นสัญญาณบ่งชี้ประการหนึ่งว่าวิกฤตยูโรโซนยังไม่ได้จบสิ้นลงแต่อย่างใด

จุดเริ่มต้นของวิกฤตการเมือง

สถานการณ์การเมืองในโปรตุเกสได้คุกรุ่นขึ้นเมื่อนายวิเตอร์ กาสปาร์ รมว.คลังโปรตุเกสได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ก.ค. และหลังจากการลาออกของนายกาสปาร์เพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมง นายเปาโล ปอร์ตาส รมว.ต่างประเทศ ก็เป็นรัฐมนตรีอีกคนหนึ่งในคณะรัฐบาลที่ตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นลางบอกเหตุว่าว่ารัฐบาลของโปรตุเกสอาจจะต้องประสบกับความยากลำบากในการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดเพิ่มเติม

การลาออกดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งเกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดของโปรตุเกส ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจของโปรตุเกสได้เผชิญกับภาวะถดถอยมาเป็นเวลา 2 ปี และคาดกันว่าจะหดตัวลงอีกในปีนี้

การลาออกของนายปอร์ตาส ผู้นำพรรคพีเพิลส์ พาร์ตี (CDS-PP) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็ก ทำให้เกิดความวิตกว่า หากพรรค CDS-PP ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลกับพรรคโซเชียลลิสต์ เดโมเครติค พาร์ตี (PSD) ที่นำโดยนายกรัฐมนตรีเปโดร ปาสซอส โคเอลโญของโปรตุเกส ก็จะส่งผลให้รัฐบาลผสมสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐสภา และประธานาธิบดีอานิบาล คาวาโค ซิลวา จะต้องประกาศยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคโซเชียลลิสต์ พาร์ตี ต้องการให้เกิดขึ้น

การลาออกดังกล่าวและกระแสความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่าโปรตุเกสจะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการขอรับเงินช่วยเหลือจากนานาประเทศ และทำให้ต้นทุนการกู้ยืม หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของโปรตุเกสพุ่งขึ้นเหนือระดับ 8% เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ขณะที่ตลาดหุ้นปิดดิ่งลง 5.3%

อย่างไรก็ตาม ความปั่นป่วนทางการเมืองครั้งล่าสุดในโปรตุเกสได้ยุติลงหลังจากดำเนินมาเป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยนายรัฐมนตรีเปโดร ปาสซอส โคเอลโญของโปรตุเกสได้ประกาศในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ว่าพรรค PSD และพรรค CDS-PP ได้บรรลุข้อตกลงในการร่วมกันบริหารประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง

นอกจากนี้ นายกฯโปรตุเกสยังได้แต่งตั้งนายปอร์ตาสให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเศรษฐกิจ พร้อมทั้งสานสัมพันธ์และเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้อย่าง ทรอยก้า ซึ่งประกอบไปด้วย คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)

มาตรการรัดเข็มขัดเจ้าปัญหา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ในโปรตุเกสก็มีลักษณะเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคที่วิกฤตทางการเมืองของประเทศมีต้นเหตุมาจากการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มงวดของรัฐบาล หลังจากที่รัฐบาลผสมของโปรตุเกสเข้าบริหารประเทศในเดือนมิ.ย.2554

รัฐบาลต้องรับมือปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่เผชิญกับภาวะถดถอยที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมา โดยพยายามอย่างหนักที่จะบรรลุเป้างบประมาณตามข้อกำหนดภายใต้ข้อตกลงให้ความช่วยเหลือทางการเงินมูลค่า 7.8 หมื่นล้านยูโรที่ทำไว้กับกลุ่มทรอยก้า

แต่มาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งรวมถึงการปรับขึ้นภาษีขนานใหญ่, การลดรายจ่ายสาธารณะและการปลดข้าราชการ ได้จุดปะทุความไม่พอใจในกลุ่มประชาชนชาวโปรตุเกส ซึ่งได้มีการออกมาประท้วงตามท้องถนนและนัดหยุดงานกันอย่างต่อเนื่อง และยังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านอยู่ในภาวะตึงเครียด

จากแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้นายกาสปาร์ต้องก้าวลงจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง โดยเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัดที่ตึงเกินไป ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโปรตุเกสในช่วงหลายปีมานี้ ขณะที่รัฐบาลประสบความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้งในการบรรลุเป้าหมายการลดยอดขาดดุลที่กลุ่มทรอยก้าได้ตั้งไว้ และคะแนนนิยมของเขาก็ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ โปรตุเกสกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดนับแต่ปี 2513 และยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าภาวะถดถอยจะสิ้นสุดลง ขณะที่อัตราว่างงานอยู่ที่ระดับสูงเกือบ 18% และมีคนตกงาน 932,000 คน ซึ่งส่งผลให้แรงงานที่มีการศึกษาสูงจำนวนหลายพันคนออกไปแสวงหางานทำในต่างประเทศ

แม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของโปรตุเกสได้ปรับตัวลงค่อนข้างต่อเนื่องในปีนี้ แต่แนวโน้มเศรษฐกิจก็ยังซบเซากว่าเมื่อเดือนม.ค. โดยทั้งรัฐบาลเองและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัว พร้อมทั้งปรับเพิ่มระดับหนี้สินของประเทศอยู่หลายครั้ง ในขณะนี้มีการประเมินว่าเศรษฐกิจของโปรตุเกสจะหดตัวลง 2.3% ในปี 2556

สถานการณ์ที่ยังมีโอกาสพลิกผันสูง

เมื่อวันศุกร์ที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ต้นทุนการกู้ยืมของโปรตุเกสได้พุ่งขึ้นอีกครั้ง แตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีทะยานขึ้นที่ 7.9% ขณะที่มีความตึงเครียดทางการเมืองมากขึ้นเกี่ยวกับเงื่อนไขของแผนการช่วยเหลือทางการเงิน

ผู้นำพรรคโซเชียลลิสต์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้เรียกร้องให้มีการเจรจาอีกครั้งเกี่ยวกับเงื่อนไขสำหรับการรับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศของโปรตุเกส ความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความช่วยเหลือทางการเงินส่งผลให้โปรตุเกสต้องเรียกร้องให้บรรดาเจ้าหนี้ชะลอการพิจารณาทบทวนแผนช่วยเหลือจากเดิมในเดือนก.ค. ออกไปเป็นสิ้นเดือนส.ค.หรือต้นเดือนก.ย.

นักลงทุนกังวลว่าความเห็นที่ไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับแผนช่วยเหลือดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อพันธสัญญาของโปรตุเกสในการเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจ

นักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้วิกฤตการเมืองของโปรตุเกสได้คลี่คลายลง แต่ยังเป็นเรื่องยากที่จะกำจัดต้นตอสำคัญของปัญหา และหลังจากที่รัฐนาวาเกือบมีอันต้องล่มเพราะปัญหาการเมืองนั้น ความเชื่อมั่นที่มีต่อโปรตุเกสย่อมต้องสั่นคลอน ซึ่งหมายความว่าโปรตุเกสมีโอกาสน้อยลงที่จะกลับเข้ามาระดมทุนในตลาดพันธบัตรอย่างเต็มที่ ขณะที่คาดกันว่ารัฐบาลจะมีการปรับเปลี่ยนมาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มงวดเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และเพื่อลดกระแสต่อต้านการดำเนินนโยบายต่างๆในปัจจุบัน นอกจากนี้ รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและนโยบายเศรษฐกิจที่ค่อนข้างผ่อนคลายจะช่วยผสานมุมมองของกลุ่มที่มีความเห็นต่างในโปรตุเกส ซึ่งจะช่วยให้ประเทศสามารถกลับเข้าสู่ตลาดการเงินระหว่างประเทศได้อีกครั้ง และจะทำให้โปรตุเกสหลุดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจได้เร็วเท่าที่จะเป็นไปได้

ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนต้องจับตากันต่อไปด้วยความกังวลก็คือ เศรษฐกิจของโปรตุเกสจะมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะออกจากข้อตกลงความช่วยเหลือทางการเงินที่ทำไว้กับทรอยก้าได้ตามกำหนดในกลางปี 2557 ได้หรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้

ประมวลความเคลื่อนไหวสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองของโปรตุเกสในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา :-

มี.ค.2553 — รัฐบาลประกาศมาตรการรัดเข็มขัดหลายประการ ซึ่งรวมถึงการลดรายจ่ายสาธารณะและการปรับเพิ่มภาษี ที่มีเป้าหมายเพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณของประเทศ ขณะที่ข้าราชการจำนวนหลายหมื่นคนผละงานประท้วงแผนการชะลอการปรับขึ้นค่าจ้าง

พ.ย.2553 — รัฐสภาให้ความเห็นชอบงบประมาณแบบรัดเข็มขัด เพื่อลดหนี้สินภาคสาธารณะที่อยู่ในระดับสูง

มี.ค.2554 — รัฐบาลประกาศลาออก หลังจากรัฐสภาปฏิเสธแผนรัดเข็มขัดฉบับใหม่

เม.ย.2554 — โปรตุเกสกลายเป็นประเทศที่ 3 ในสหภาพยุโรป (อียู) ต่อจากกรีซและไอร์แลนด์ ที่ขอความช่วยเหลือทางการเงินจากภูมิภาคเพื่อช่วยจัดการกับปัญหาขาดดุลงบประมาณของประเทศ

พ.ค.2554 — อียูและไอเอ็มเอฟตกลงอนุมัติเงินช่วยเหลือวงเงิน 7.8 หมื่นล้านยูโรแก่โปรตุเกส โดยมีเงื่อนไขให้โปรตุเกสลดรายจ่ายอย่างเร่งด่วน

มิ.ย.2554 — เลือกตั้งรัฐสภา พรรคโซเชียลลิสต์ เดโมเครติค พาร์ตี (PSD) ชนะการเลือกตั้ง และได้จัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคพีเพิลส์ พาร์ตี (CDS-PP)

ส.ค.2554 รัฐบาลประกาศแผนลดรายจ่ายครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปีของโปรตุเกส โดยมุ่งลดรายจ่ายสาธารณะลงจาก 44.2% ของจีดีพี สู่ระดับ 43.5% ของจีดีพีภายในปี 2558

ต.ค.2554 — รัฐบาลโปรตุเกสเสนอมาตรการอีกฉบับในการลดค่าใช้จ่ายและปรับเพิ่มภาษีต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นความพยายามในการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการรับความช่วยเหลือทางการเงิน 7.8 หมื่นล้านยูโร

ก.ย.2555 — ทรอยก้าให้เวลาโปรตุเกสอีก 1 ปีในการลดยอดขาดดุลให้ต่ำกว่าเป้าของอียูที่ 3% ของจีดีพี หลังจากที่มีความคืบหน้าในการปรับสมดุลเศรษฐกิจ

พ.ย.2555 — รัฐสภาอนุมัติงบประมาณ ซึ่งมุ่งหวังจะดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดอีก 1 ปี

ก.ค.2556 — รัฐบาลสั่นคลอน หลังรัฐมนตรีระดับสูงลาออกจากตำแหน่ง ท่ามกลางแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและยืดเยื้อ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ